"ไทยพีบีเอส" ส่งจดหมายชี้แจง "ไทยรัฐ" ยืนยันบริหารเงินโปร่งใส

สังคม
30 ส.ค. 55
14:06
138
Logo Thai PBS
"ไทยพีบีเอส" ส่งจดหมายชี้แจง "ไทยรัฐ" ยืนยันบริหารเงินโปร่งใส

ไทยพีบีเอส ส่งจดหมายชี้แจงการเผยแพร่ข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยืนยันบริหารเงินอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้และพร้อมชี้แจง มีกลไกติดตามและกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเข้มงวด

นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ได้ทำจดหมายชี้แจงไปยังหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กรณีนำเสนอข่าวเกี่ยวกับไทยพีบีเอสคลาดเคลื่อน และขอให้แก้ไขข่าว โดยจะรอคำตอบกลับเป็นทางการจากกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐภายในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ เนื้อความในจดหมาย ระบุถึงข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 28 ส.ค. หน้า 8 หัวข้อข่าว "แฉ สสส.-ไทยพีบีเอส ใช้เงินมือเติบ" ระบุว่า "...กระทรวงการคลังจะเข้าตรวจสอบการส่งเงินของกรมสรรพสามิตที่ให้แก่ไทยพีบีเอส เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ส่งรายได้ 2% แต่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ในปี 53 ไทยพีบีเอสได้รับเงินเกิน 40 ล้านบาท และปี 54 เกินอีก 60 ล้านบาท จัดอยู่ในกลุ่มพวกมือเติบเหมือนกันเพราะไม่มีใครกล้าเข้าไปตรวจสอบการทำงานและการใช้จ่ายเงิน..."

โดยข่าวดังกล่าวไม่ได้อ้างอิงแหล่งข่าวที่มีตัวตนอย่างชัดเจน ทั้งจากกระทรวงการคลังหรือกรมสรรพสามิต อีกทั้งมีข้อมูลคลาดเคลื่อนหลายประการ ส่งผลกระทบต่อภาพพจน์และความน่าเชื่อถือของ ส.ส.ท. ในฐานะสื่อสาธารณะที่ดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมุ่งประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน จึงขอชี้แจงเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. ไทยพีบีเอส ได้รับเงินบำรุงองค์การจากภาษีสุราและยาสูบในสัดส่วนร้อยละ 1.5 ของรายได้ ไม่ใช่ร้อยละ 2 ตามที่ไทยรัฐระบุ แต่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปี โดย รมว.กระทรวงการคลังมีอำนาจพิจารณาปรับเพิ่มรายได้ดังกล่าว 3 ปีครั้ง แต่จนถึงบัดนี้ ไทยพีบีเอสได้ย่างเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการปรับเพิ่มรายได้ดังกล่าวแต่อย่างใด

2. พ.ร.บ. ส.ส.ท. มาตรา 12 กำหนดเพดานเงินบำรุงให้กับไทยพีบีเอสสูงสุดไม่เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อสิ้นปีงบประมาณ หากมีรายรับเงินกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ไทยพีบีเอส มีหน้าที่ต้องส่งเงินบำรุงองค์การในส่วนที่เกิน คืนให้กับกระทรวงการคลัง ซึ่งไทยพีบีเอสได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ดังนั้น ข้อกล่าวหาที่ระบุว่าไทยพีบีเอสได้รับเงินเกิน 2,000 ล้าน และเป็นกลุ่มที่ใช้เงินมือเติบ จึงเป็นความเท็จและเป็นการให้ร้ายโดยไม่มีมูล ทำให้ไทยพีบีเอสได้รับความเสื่อมเสีย อีกทั้งผู้สื่อข่าวของไทยรัฐมิได้สอบถามข้อเท็จจริงจากทางไทยพีบีเอสแต่อย่างใดก่อนนำเสนอข่าวดังกล่าว จึงทำให้ข่าวขาดความสมดุล และไม่เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายได้ชี้แจง

3. ในฐานะองค์การสาธารณะ ไทยพีบีเอสถูกตรวจสอบโดยกระบวนการที่เข้มงวดในทุกด้าน พ.ร.บ. ส.ส.ท. กำหนดให้การดำเนินการของไทยพีบีเอส ต้องถูกตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบภายใน(มาตรา 48) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการตรวจสอบภายใน ที่มีองค์ประกอบจากกรรมการนโยบายและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก และมีอำนาจในการตรวจสอบไทยพีบีเอสทุกด้านอย่างเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร

พ.ร.บ. ส.ส.ท. ยังกำหนดให้ไทยพีบีเอส จัดทำการประเมินผลการปฏิบัติงานทุกปี โดยคณะกรรมการประเมินที่เป็นบุคคลภายนอกองค์กร (มาตรา 50) ซึ่งทำหน้าที่อย่างอิสระ นอกจากนั้น ไทยพีบีเอส ยังต้องจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี (มาตรา 52) เพื่อชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งในรายงานดังกล่าว ต้องประกอบด้วยข้อมูลด้านการเงินและการใช้จ่ายงบประมาณด้วยเช่นกัน กรรมการนโยบายและผู้บริหารองค์การยังต้องทำหน้าที่รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและตอบข้อซักถามต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทุกปี

ที่สำคัญที่สุด คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณและการบริหารทรัพย์สินขององค์การ (มาตรา 49) มาอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งถ้ามีความผิดปกติใดใด ในการใช้จ่ายงบประมาณ ก็จะปรากฏอยู่ในรายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินอย่างแน่นอน

ไม่เพียงเท่านั้น ไทยพีบีเอส ยังมีกลไกการกำกับดูแลจากภาคประชาชน ผ่านสมาชิก "สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ" อีก 50 คน ที่เป็นตัวแทนประชาชนจากภาคส่วนต่างๆทั่วประเทศ ทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และสะท้อนเสียงความต้องการของประชาชน เพื่้อให้ภารกิจของไทยพีบีเอส ตอบสนองความต้องการของผู้ชมผู้ฟังอย่างแท้จริง

จากมาตรการต่างๆข้างต้น จะเห็นได้ว่าไทยพีบีเอส ทำงานภายใต้กรอบกฎหมาย ให้ความสำคัญกับความโปร่งใส ตรวจสอบได้ คำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดที่สังคมจะได้รับจากสื่้อสาธารณะแห่งนี้ โดยมีมาตรการในการกำกับดูแลที่เข้มงวดมาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่ไทยพีบีเอสจะใช้เงินอย่าง "มือเติบ" และ "ไม่มีใครกล้ามาตรวจสอบ" อย่างที่กล่าวหา

เพื่อความเป็นธรรมกับไทยพีบีเอส จึงของให้กองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พิจารณาดำเนินการแก้ไขข้อมูลดังกล่าวให้ถูกต้องตามที่แจ้งมา ด้วยการตีพิมพ์เผยแพร่จดหมายฉบับนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ และขอให้แจ้งผลการดำเนินการมายังไทยพีบีเอส อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเร็วที่่่สุด

ไทยพีบีเอสมีความเชื่อมั่นว่า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นสื่อที่ยึดมั่นในความเป็นวิชาชีพและหลักจริยธรรม ซึ่งทำให้ได้รับความนิยมและความเชื่อถือจากผู้อ่านมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กองบรรณาธิการไทยรัฐจะได้ทำการตักเตือนผู้สื่อข่าวให้เพิ่มความระมัดระวังในการตรวจสอบข้อมูลก่อนเผยแพร่ข่าวสู่สาธารณะ อีกทั้งควรเปิดโอกาสให้ผู้ถูกพาดพิงหรือถูกกล่าวหาได้ชี้แจง เพื่อสร้างสมดุลและความเป็นกลางในข่าว อันเป็นมาตรฐานเบื้องต้นตามหลักการทางวิชาชีพที่สื่อสารมวลชนทั่วไปยึดถือ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง