"บรูซ แกสตัน" ผู้บุกเบิกดนตรีไทยร่วมสมัย

Logo Thai PBS
"บรูซ แกสตัน" ผู้บุกเบิกดนตรีไทยร่วมสมัย

กว่า 40 ปีที่แล้ว นักศึกษาปริญญาโทด้านการประพันธ์ชาวอเมริกา ตัดสินใจเดินทางมาไทยเพื่อถ่ายทอดความรู้ดนตรีตะวันตก แต่กลับหลงใหลในเสียงเพลงไทย จึงฝากตัวเป็นลูกศิษย์ครูบุญยงค์ เกตุคง ทำให้ บรูซ แกสตัน คือหนึ่งบุคคลที่อยู่เบื้องหลังพัฒนาการวงการดนตรีไทย

บทร่วมสมัยในชื่อ กินรี ที่บรรเลงร่วมกันระหว่างดนตรีไทยอย่างระนาด ขลุ่ยฝรั่งอย่างฟลุท และแอ็คคอเดียน ในดนตรีแนวฟิวชั่นแจ๊ส ที่เอกลักษณ์การผสมผสานแนวดนตรีก้าวข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรม ยังสะท้อนอยู่ในผลงานล่าสุดของ บรูซ แกสตัน หนึ่งผู้สร้างปรากฏการณ์วงการดนตรีร่วมสมัย ผ่านผลงานของวงฟองน้ำ เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว สร้างปรากฏการณ์ให้คนไทยหันมาสนใจดนตรีไทยมากขึ้น เป็นตัวแทนประเทศไทยไปเผยแพร่ดนตรีไทยราชสำนักยังกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษในปี 2530
 
เพลงร็อคสำเนียงไทยจากโซโลกีต้าร์อันเป็นเอกลักษณ์ของเพลง "ฤดูที่ฉันเหงา" ที่โด่งดังติดหูคนฟังทั่วไป คือหนึ่งในอิทธิพลทางดนตรีที่ส่งไปถึงลูกชายเพียงคนเดียว ธีรดล แกสตัน ซึ่งในอดีตเคยร่วมหนึ่งในสมาชิกวงฟองน้ำ ที่ผู้เป็นพ่อให้ปลูกฝังให้รู้จักกับดนตรีไทยตั้งแต่ 7 ขวบ และเคยติดตามฟองน้ำไปแสดงยังต่างประเทศ แม้สุดท้ายจะเลือกเส้นทางดนตรีที่ต่างจากผู้เป็นพ่อ แต่สายสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกก็ยังถูกเชื่อมไว้ด้วยดนตรี และเป็นหนึ่งในความภูมิใจของผู้เป็นพ่อ ที่ต้องการเห็นเสียงสำเนียงไทยสะท้อนอยู่ในดนตรีร่วมสมัย
 
ความตั้งใจในการศึกษา และค้นคว้ารวมถึงผลงานการอนุรักษ์เพลงไทยให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี ทำให้ บรูซ แกสตัน ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติศิลปินศิลปาธรกิตติคุณปี 2552 จากสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ และยังคงเป็นแบบอย่างในการสร้างสรรค์ผลงานสะท้อนความเป็นไทยที่ไร้พรมแดนของเชื้อชาติมาขวางกั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง