120 ปี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งวงการศิลปกรรมร่วมสมัยของไทย

Logo Thai PBS
120 ปี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งวงการศิลปกรรมร่วมสมัยของไทย

ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น วาทะคมคาย ที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บอกกับตัวเอง และ ศิษย์ศิลปากรให้เห็นถึงความยั่งยืนของงานศิลปะ ครบ 120 ปี ครูผู้เปรียบเสมือนบิดาแห่งวงการศิลปกรรมร่วมสมัยของไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานบูชาครูผู้เป็นแรงบันดาลใจในวันศิลป์ พีระศรี

แม้ต่างแนวคิดและต่างเทคนิคสร้างสรรค์งานศิลปะตามความถนัดของแต่ละคน แต่ "รังผึ้ง" จากการร้อยเรียงผลงาน 108 ชิ้น ของ 108 ศิลปิน ก็สื่อถึงพลังศิลปะที่มาจากความรัก-สามัคคี ขยันทำงานดุจดังผึ้ง ซึ่งรวมชิ้นงานเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อเชิดชูครูศิลปะ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ในวาระ 120 ปี ชาตกาล 15 กันยายน  

"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉัน ให้กับบางสิ่งที่เป็นประโยชน์ ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อยในงานศิลปะของฉัน" ความจากจดหมายลายมือฉบับสุดท้าย ที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เขียนไว้ก่อนเสียชีวิตเพียง 6 วัน เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน "พินัยกรรมฉบับสุดท้าย" ของพิษณุ ศุภนิมิตร หนึ่งในผลงานวาทศิลป์ ที่ศิลปิน และคณาจารย์คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ถ่ายทอดวาทะของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีในรูปของงานศิลปะ

ศิลปะยืนยาวชีวิตสั้น พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว นายคิดถึงฉัน นายต้องทำงาน ล้วนเป็นวาทะกระตุ้นแรงบันดาลใจให้กับศิษย์ศิลปากรมาทุกรุ่น ซึ่งต่างยกย่องให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นแบบอย่างของความอ่อนน้อมถ่อมตน ผู้สร้างศิลปะด้วยศรัทธา

<"">
<"">

 

ชมพิชาน์ ดวงอุปะ-อิศราวุธ จันทร์คุด นศ.คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร กล่าวว่า ได้นำวาทะศิลป์ของอาจารย์ศิลป์มาใช้ในการทำงาน ขณะที่ธนาพร สุขเจริญ-ศิริกานต์ ยืนยง-หฤทัย ศรีภุมมา นศ.คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร กล่าวว่า ตัวอย่างคำของอาจารย์ศิลป์ที่จำได้ เป็นแบบอย่างในการทำงาน การเรียนของพวกเขาให้ตั้งใจ 

ถ้านายรักฉันนายทำงาน ก็เป็นคำที่ย้ำให้ศิษย์ทำงานดังเช่นที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เคยทำงานด้วยความทุ่มเทและรักในงานศิลปะค่ะ การรำลึกถึงครูจึงสะท้อนผ่านผลงานในนิทรรศการลูกศิษย์คิดถึงอาจารย์ที่จัดแสดงในหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผลงานของลูกศิษย์ที่เรียนมากับอาจารย์ศิลป์โดยตรง เช่นงานของอาจารย์เปี่ยมสุข เหรียญรุ่งเรือง และอาจารย์ทวี รัชนีกร รวมถึงงานของศิษย์ที่ศรัทธาในแนวทางทำงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี

2 ปีในการรวมกลุ่มคนรักศิลปะ ทั้งศิษย์เก่าศิลปากร และศิลปินอิสระ วันนี้คลับหน้าพระลาน มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 1,200 คน ล้วนมีงานศิลปะเป็นสื่อกลางเชื่อมสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ มอบรายได้จากการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อการกุศล ผลงานร่วมสมัย 55 ชิ้น ที่ศิลปินสร้างสรรค์ ยังจัดแสดงในนิทรรศการลูกศิษย์คิดถึงอาจารย์ นอกจากบูชาครูเนื่องในวันศิลป์ พีระศรี ยังสะท้อนการขยายกว้างของสังคมศิลปะ ที่มีศาสตราจารย์ศิลป์เป็นผู้วางรากฐานในการนำศิลปะไปสู่สังคม  

<"">
<"">

 

มนัส คงรอด ประธานชมรมคลับหน้าพระลาน ศิษย์รุ่น 28 คณะจิตรกรรมฯ กล่าวว่า "คิดถึงฉันนายทำงาน เป็นผลงานศิลปะที่เราร่วมกันรำลึกถึงการทำงานของอาจารย์ที่เราไม่เคยลืม" ขณะที่ ผศ.สิทธิชัย ปรัชญารัติกุล รองคณบดี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร กล่าวว่า คุณูปการของอาจารย์ศิลป์ที่มีต่อวงการศิลปะและการศึกษาศิลปะไทยอย่างมาก

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นชาวอิตาเลียน เข้ามามีทบาททางด้านศิลปกรรมด้านศิลปกรรมไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ริเริ่มงานศิลปะร่วมสมัยของไทย โดยนำความเป็นตะวันออก มาผสมผสานกับตะวันตกได้อย่างกลมกลืน และฝากผลงานไว้อย่างมากมาย เช่น  พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล 25 พุทธศตวรรษ

<"">

 

นอกจากนี้ยังเป็นผู้วางรากฐานมหาวิทยาลัยศิลปากร และหลักสูตรการศึกษาศิลปะในไทย ให้มีมาตรฐานทัดเทียมสากล เขียนตำราเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ และสอนด้วยตนเอง โดยไม่ปิดบังวิชา ทั้งยังตักเตือนด้วยความเมตตา จึงเป็นที่รักของศิษย์ อาจารย์ศิลป์ได้ฝากอมตะวาจาไว้ว่า "วันใดฉันไม่อยู่แล้ว ถ้านายคิดถึงฉัน ขอให้นายทำงาน" กิจกรรม 120 ปีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นอกจากร่วมรำลึกวาระสำคัญของผู้มีคุณูปการต่อวงการ ยังเผยแพร่ผลงานจากการพัฒนาศิลปะไทยที่ผ่านมา   


ข่าวที่เกี่ยวข้อง