"รัฐบาล - ฝ่ายค้าน" หารือมาตรการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ วันนี้

การเมือง
18 ก.ย. 55
02:49
51
Logo Thai PBS
"รัฐบาล - ฝ่ายค้าน" หารือมาตรการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ วันนี้

วันนี้ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และหน่วยงานด้านความมั่นคง จะหารือร่วมกันถึงมาตรการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผู้บัญชาการทหารบกมองว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการร่วมกันแก้ไขปัญหา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลกับฝ่ายค้าน และหน่วยงานด้านความมั่นคง จะมีประชุมหารือการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้ (18 ก.ย) ว่า ถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการหารือร่วมกันครั้งแรก ซึ่งในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ รอง ผอ.รมน. จะชี้แจงในหลายเรื่องที่อาจไม่เข้าใจกัน เพราะต้องทำความเข้าใจว่าเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นมาหลายรัฐบาลแล้ว ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งทุกรัฐบาลแก้ปัญหามาตามลำดับ โดยพลเรือน ตำรวจ ทหาร ทำหน้าที่มาโดยตลอด ในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติ แต่ฝ่ายนโยบายจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จึงต้องทำความเข้าใจว่าการปฏิบัติส่วนใดดีหรือไม่ มีข้อห่วงใยอย่างไร ต้องแก้ไขจุดใดบ้าง ส่วนกรณีการเข้ามอบตัวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ผู้บัญชาการทหารบกมองว่าเป็นเรื่องที่ดี

ขณะที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง กล่าวถึงข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีที่ให้ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เข้ามอบตัวในพื้นที่ โดยระบุว่าเบื้องต้นยังเป็นการพูดคุยกันที่ต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอน

ส่วนแนวร่วมที่เข้าข่ายดำเนินการตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ นั้น ตามขั้นตอนยังมีความล่าช้า เห็นว่าต้องปรับปรุงให้รวดเร็ว และรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมกับ นายกรัฐมนตรี และพรรคฝ่ายค้านในวันนี้ พร้อมยืนยันว่าจะรับฟังแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จะมีการนำข้อเสนอของ ส.ส.ที่รวบรวมมาเสนอต่อที่ประชุม โดยคิดว่า น่าจะเป็นประโยชน์หากรัฐบาลได้นำไปพิจารณาหรือนำไปปฏิบัติ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า หลังการหารือ ต้องดูท่าทีของรัฐบาลว่าจากการแลกเปลี่ยนความเห็น และข้อมูลแล้วจะมีแนวทางอย่างไร จะต้องติดตามตรวจสอบว่ามีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงแนวทางแก้ปัญหาหรือไม่ ซึ่งคงไม่มีการขีดเส้นตายในการประเมินผล เพราะต้องเริ่มจากการดูท่าทีของรัฐบาลว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรคหรือไม่ ซึ่งหน้าที่ของพรรคทำงานในเชิงตรวจสอบ รวมทั้งให้ข้อมูลกับฝ่ายการเมืองในเรื่องนโยบายเป็นหลัก แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง