"ไทยพีบีเอส" จัดเสวนาเขียนชีวิตพลิกบทบาทผู้หญิงไทยในละคร

Logo Thai PBS
"ไทยพีบีเอส" จัดเสวนาเขียนชีวิตพลิกบทบาทผู้หญิงไทยในละคร

ภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่มักถูกมองว่าอ่อนแอ และต้องการความรัก และดูแลจากผู้ชาย ถูกนำเสนอซ้ำในละครไทย จนกลายเป็นภาพจำ ซึ่งบางครั้งอาจไม่จริงเสมอไป จึงมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงานเสวนาเขียนชีวิต พลิกบทบาทผู้หญิงไทยในละคร การรื้อสร้างภาพตายตัว และมายาคติ จัดโดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ความรัก และหลง ทำให้ แพง บ่าวสาวยอมทำทุกทางเพื่อให้ได้ตัวคุณพระมาครอบครอง ไม่ฟังเสียงทัดทานจากใครแม้แต่แม่ ในละครเรื่องบ่วง ไม่เพียงสะท้อนภาพหญิงที่มีกำเนิดต้อยต่ำแต่ใฝ่สูงจนพบจุดจบที่น่าอนาถ จนกลายเป็นวิญญาณร้ายสุดท้ายได้รับการปลดปล่อยจากชายที่ตนรัก ภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่อ่อนแอ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้ชาย ถูกนำเสนอซ้ำในละครไทยหลายเรื่อง นำมาเป็นประเด็นเสวนาเขียนชีวิตพลิกบทบาทผู้หญิงไทยในละคร การรื้อสร้างภาพตายตัว และมายาคติที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อเรียนรู้บทบาทผู้หญิงที่ถูกผลิตในละคร

ผศ.เอกธิดา เสริมทอง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า การจะให้สื่อมาบอกว่าผู้หญิงเป็นภาพนั้นนี้ ต้องถามตัวผู้หญิงเองด้วยว่าเราเห็นตัวเองชัดเจนแค่ไหน มองว่าในวันนี้ละครอาจจะนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้หญิงเพียงเสี้ยวนึง แล้วตีตรงนั้นให้มันใหญ่ขึ้น แล้วอาจจะไม่ตรงใจกับผู้หญิงในฝากฝั่งนึงก็เป็นได้

สถาพร นาควิไลโรจน์ นักแสดง และผู้กำกับละคร กล่าวว่า สมัยนี้คือเรารู้สึกว่าผู้หญิงมีบทบาทนะ แต่พี่ว่ามันเป็นภาพเฉยๆ ภาพของสังคมมันบดบัง มันฉาบไว้เฉยๆ ยังไงผู้หญิงทุกวันนี้ก็ยังถูกดูถูกเหยียดหยาม หรือมองในแง่ไม่ดีอยู่เสมอ เพียงแต่ภาพมันฉาบไว้ ยุคสมัย สังคมมันเปลี่ยน แต่ลึกๆ แล้วพี่เชื่อว่าไม่เปลี่ยน

แม้มีความพยายามปรับสร้างตัวละครผู้หญิงให้หลากหลายมากขึ้น ด้วยการออกมาเรียกร้องสิทธิ และทำงานได้ไม่ต่างจากผู้ชาย เพื่อสะท้อนว่าผู้หญิงสมัยใหม่มีความสามารถ แต่หลายเรื่องก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเนื้อเรื่องขาดความสมจริง 

นิมิต พิพิธกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ กล่าวว่า ต้องปรับทัศนคติว่าเราคิดว่าผู้ชายมีอำนาจ ผู้หญิงเลยต้องมีอำนาจทัดเทียมผู้ชาย ความจริงผู้ชายอาจจะมีอำนาจไม่เพียงพอ มีผู้หญิงร่วมสนับสนุน ผลักดัน ให้ก็เกิดความสำเร็จร่วมกัน ทำไมเราไม่พยายามที่จะสร้างบทบาทผู้ชายที่เหมาะสมขึ้นในละครล่ะ ผู้ชายที่ฉลาด ผู้ชายที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำก็ได้ ผู้ชายที่จะสามารถเข้าใจผู้หญิง แล้วก็เดินแบบเท่าเทียมกัน แทนที่จะพยายามดันผู้หญิงให้เท่าเทียมกับละครผู้ชาย

เสวนาเขียนชีวิตพลิกบทบาทผู้หญิงไทยในละคร เป็นอีกเวทีชวนคิดถึงบทบาทผู้หญิงไทยในละคร หวังให้มีการนำเสนอตัวละครหญิงที่ตรงกับความจริงมากขึ้น ไม่ได้มีเพียงบทภรรยา และแม่ ซึ่งจะช่วยให้ละครโทรทัศน์มีมิติที่หลากหลายยิ่งขึ้น
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง