6 ปี รัฐประหาร นักวิชาการชี้ "ความขัดแย้ง" อาจบานปลาย ถ้าคนไทยไม่พร้อม "เข้าใจกัน"

19 ก.ย. 55
14:34
55
Logo Thai PBS
6 ปี รัฐประหาร นักวิชาการชี้ "ความขัดแย้ง" อาจบานปลาย ถ้าคนไทยไม่พร้อม "เข้าใจกัน"

แม้เหตุรัฐประหารจะผ่านพ้นไปถึง 6 ปีแล้ว แต่นักวิชาการ ด้านรัฐศาสตร์ ประเมินสถานการณ์บ้านเมืองและสังคมไทยแล้วเชื่อว่า ความขัดแย้งทางการเมืองและความเห็นต่างของคนในสังคมยังคงดำรงอยู่ ซึ่งถือเป็นผลด้านลบที่ยังคงหลงเหลือจากเหตุรัฐประหารในอดีต และถ้าคนไทยทุกคนไม่พร้อมที่จะทำความเข้าใจต่อกัน อาจทำให้ปัญหาลุกลามและบานปลายได้

19 กันยายน 2549 เหตุผลที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ประกาศยึดอำนาจด้วย 4 เหตุผลหลัก คือ การทุจริตคอรัปชั่น การแทรกแซงองค์กรอิสระ ความแตกแยกในสังคม และการหมิ่นสถาบัน พร้อมทิ้งท้ายปฏิเสธไม่มีเจตนาที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน แต่จะคืนอำนาจการปกครองกลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด

ไม่เพียงผลสรุปของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ที่จะยืนยันว่า หลังเกิดเหตุรัฐประหาร แม้จะผ่านพ้นไปแล้วถึง 6 ปี แต่ก็พิสูจน์แล้วว่า "ไม่สามารถคลี่คลายปัญหาทางการเมืองหรือเหตุความขัดแย้งได้ หากแต่ยังทำให้ความขัดแย้งที่มีอยู่ซับซ้อนและลุกลามบานปลายยิ่งขึ้น"

<"">
<"">

 

แต่ ศ.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่จับตามองการเติบโตพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยมาตลอด ก็เห็นด้วยกับบทสรุปของ คอป. พร้อมยอมรับถึงความผิดพลาดในอดีต ที่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง เพราะเคยร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นด้วย

นอกจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงหลงเหลือจากเหตุรัฐประหารเมื่อ 6 ปีก่อนแล้ว ข้อถกเถียงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ยังเป็นผลพวงที่รอการยืนยันว่าจะต้องเกิดขึ้นหรือไม่? หรือจะนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองรอบใหม่? ซึ่งนิคม ไวยรัชพาณิช ประธานวุฒิสภา แนะให้รัฐบาลจัดให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชน ก่อนที่จะประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 ที่ค้างอยู่ ส่วนร่างกฎหมายปรองดอง ก็เห็นควรให้สภาผู้แทนราษฎรชะลอการพิจารณาไว้ก่อน เพื่อเปิดรับฟังความเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนให้ยอมรับตรงกัน

ปัญหาระดับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ตลอดจนการใช้สื่อเป็นเครื่องมือขยายผลความขัดแย้ง และความอ่อนแอของกลไกในระบอบประชาธิปไตย ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หลงเหลือจากเหตุรัฐประหารในอดีต อาจไม่เพียงภาครัฐเท่านั้นที่จะต้องเยียวยาแก้ไข แต่ทุกคนในประเทศย่อมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง