นิทรรศการภาพเล่าเรื่อง "เรียนรู้ความต่าง มองประชาคมอาเซียน" สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม

Logo Thai PBS
นิทรรศการภาพเล่าเรื่อง "เรียนรู้ความต่าง มองประชาคมอาเซียน" สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม

สสค.จัดนิทรรศการภาพเล่าเรือง "เรียนรู้ความต่าง มองประชาคมอาเซียน" แพร่ภาพความหลากหลายในอาเซียน ด้านปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เผย การยอมรับความแตกต่างเป็นสิ่งที่สำคัญ ขณะที่นักเขียนและช่างภาพสารคดี ชี้ ควรเห็นคุณค่าของความต่าง และหากมีภาพที่บ่งชี้ความแต่งต่างมากเท่าไหร่ จะส่งผลให้ชาติพันธุ์กลุ่มย่อย กล้าแสดงวัฒนธรรมมากขึ้น

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับชุมชนคนรักภาพถ่าย จัดนิทรรศการเล่าเรื่องด้วยภาพ "เรียนรู้ความต่าง มองประชาคมอาเซียน" ที่นำภาพมาจากการส่งเข้าประกวดในหัวข้อ "Asean in Mind" โดยนายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในพิธีเปิดว่า ภาพที่จัดแสดงล้วนแสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งการเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเมื่อมีการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาคทรรพ ที่ปรึกษาสสค. กล่าวว่า ภาพแต่ละภาพที่มาจัดแสดงล้วนแล้วมีความหมาย และแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ต่างมีความสัมพันธ์คล้ายเป็นเครือญาติกัน และเมื่อปี 2558 มาถึง จะไม่มีบรรยากาศ หรือว่ารู้สึกว่าเพื่อนบ้านเป็นคนแปลกหน้าที่จะเข้ามาค้ากำไร แต่จะเข้ามาเพื่อร่วมมือกันในฐานะคู่ค้า

<"">
 
<"">

ขณะที่นายธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนและช่างภาพสารคดี และคณะกรรมการในการตัดสิน กล่าวว่า สีสันความหลากหลายของชาติพันธ์จะถูกเป็นประเด็นของการถ่ายภาพอย่างมาก เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียน ว่าไม่มีของใครดีกว่าใคร และเมื่อแนวคิดเผยแพร่ออกไปจะทำให้มีการแสดงออกทางชาติพันธุ์มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพราะจะไม่คิดว่าเป็นเรื่องเชย เช่น งานบายศรีสู่ขวัญผลไม้

นอกจากนี้ นายธีรภาพระบุว่า การเห็นคุณค่าของคนเท่ากัน จะทำให้เกิดการยอมรับและเข้าใจในความแตกต่าง ซึ่งถ้าไม่สามารถผ่านได้ ประชาคมอาเซียนก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าประชากรยังดูถูกคนอื่น และดูถูกตัวเอง เพราะฉะนั้นการเห็นคุณค่าของคนเท่าเทียมกัน ทำให้เราหยุดพ้นกับดักของชาวอาเซียนที่จะรวมกันเป็นประชาคมอาเซียนได้

อย่างไรก็ตาม จุดร่วมที่แต่ละประเทศต้องมี คือ การลืมอดีตที่เคยบาดหมางกันมา เพราะต่างฝ่ายต่างเป็นทั้งผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำ และจุดร่วมของประเพณีที่เหมือนกัน เช่น จ.ตาก และพม่าที่มีการจัดการทำบุญ ที่ดึงประชาชนที่มีความศรัทธาทางศาสนาที่เหมือนกันมาร่วมกัน ถ้าก้าวข้ามตรงนี้ได้ เราจะมีจุดร่วมที่งดงาม

<"">
 
<"">

สำหรับนิทรรศการเล่าเรื่องด้วยภาพนั้น จะนำภาพถ่ายที่ชนะเลิศ คือ ประเภทเดี่ยว ชื่อภาพ ความหลากหลายวัฒนธรรมบนแผ่นดินไทย ของนายพิชญวัฒน์ ปรุงศักดิ์ ที่ถ่ายทอดภาพการอยู่ร่วมกันของชาวไทยและมอญที่สังขละบุรี และประเภทกลุ่ม เรื่อง ผู้ให้ที่แตกต่างอย่างศรัทธา โดยกลุ่มพยาบาลโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ที่เล่าเรื่อง และภาพ ของการดูแลรักษาคนไข้ที่มีความหลากลายทั้งเชื้อชาติ และศาสนา รวมไปถึงภาพถ่ายอื่น ๆ ที่ส่งเขามาในการประกวด ซึ่งงานจะจัดแสดงที่ ชั้น 3 มิวเซียมสยาม ตั้งแต่วันนี้ (28ก.ย.55) ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2555


ข่าวที่เกี่ยวข้อง