ความท้าทายของสื่อกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2015

สังคม
29 ก.ย. 55
11:55
450
Logo Thai PBS
ความท้าทายของสื่อกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2015

ความท้าทายของสื่อในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่ทั้งสื่อไทย-เทศ ต่างเสนอมุมมองว่า สื่อต้องนำเสนอประเด็นทางสังคม มากกว่าความเคลื่อนไหวของผู้นำ และธุรกิจ ต้องมีความรู้ประวัติศาสตร์ชาติอาเซียน และการใช้เสรีภาพสื่อในการช่วยตีแผ่ความจริงในภูมิภาค

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนา "บทบาทสื่อกับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน 2015" โดยมีวิทยากรจากแวดวงสื่อสารมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), นายพิภพ พานิชภักดิ์ นักสื่อสารมวลชนอิสระ, Johanna Son ผู้อำนวยการกองทุนและสำนักข่าว Inter Press Sevice News Agency (IPS) และ Endy Mouzardi Bayu บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ จากาต้า โพสต์ ประเทศอินโดนีเซีย

โดยนายเทพชัย เห็นว่า หน้าที่ของสื่อในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะต้องมีการนำเสนอประเด็นข่าวทางสังคมมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่การนำเสนอความเคลื่อนไหวของผู้นำประเทศที่เกี่ยวกับเรื่องอาเซียน แต่ต้องมีการนำเสนอเพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจว่าอาเซียนไม่ใช่แค่องค์กร แต่เป็นสังคมของทั้ง 10 ประเทศ และอยากให้มีการนำเสนอว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น ปัญหาอาชญากรรม, ปัญหาการคอรัปชั่น และปัญหาสังคมว่าในประเทศมีวิธีการจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างไร ซึ่งจะทำให้ประชาชน รู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีจุดร่วมเดียวกัน ดังนั้น ทางกองบรรณาธิการจะต้องลงทุนในการให้พื้นที่ในการนำเสนอข่าว รวมถึงการพัฒนาทักษาะความสามารถในการทำข่าวด้วย

 

<"">
 
<"">

ซึ่งสอดคล้องกับ Johanna ที่ระบุว่า การนำเสนอข่าวอาเซียนส่วนใหญ่จะเป็นการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ ที่เกี่ยวกับภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ เช่น การเสนอข่าวการประชุมอาเซียนซัมมิท ของรัฐมนตรีในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งพบว่ายังไม่มีการนำเสนอข่าวในเชิงลึก หรือด้านสิทธิมนุษยชน ที่สะท้อนปัญหาของประชาชนในภูมิภาคเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ การทำหน้าที่ของสื่อเพื่อผลักดันการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เห็นว่า สื่อในกลุ่มอาเซียนควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน

ด้าน Endy กล่าวว่า อาเซียนไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องเฉพาะรัฐบาล, นักการทูต หรือนักธุรกิจ แต่รวมไปถึงประชาชนทั้ง 10 ประเทศมารวมกันเป็นสังคม ความท้าทายจึงตกไปอยู่ที่สื่อมวลชนว่าจะนำเสนออย่างไรมากกว่า และผู้สื่อข่าวต้องมีความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย การเข้าใจความเป็นมาของการรวมกลุ่มอาเซียน  รวมไปถึงการสามารถจะวิพากษ์วิจารณ์อาเซียนได้

 

<"">
 
<"">

ขณะที่นายพิภพ กล่าวว่า ประชาชนยังมีความรู้เรื่องของอาเซียนน้อย เนื่องจากการนำเสนอข่าวยังเป็นไปในลักษณะความเคลื่อนไหวของผู้นำในกลุ่มสมาชิกอาเซียนที่จัดการประชุมประจำปีร่วมกัน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าอาเซียนเป็นเรื่องไกลตัว ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐและธุรกิจเท่านั้น ทั้งนี้ เห็นว่าบทบาทของสื่อควรปรับการนำเสนอที่ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ในประเทศตนเองเท่านั้น แต่หากเรื่องใดมีผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน ก็ควรนำเสนอประเด็นเหล่านั้นด้วย และหากประเทศใดมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวควรไปช่วยส่งเสริมประเทศที่ถูกจำกัดสิทธิ์ในการนำเสนอข่าว เพื่อตีแผ่ความจริงในเรื่องนั้น ๆ เช่น กรณีเขื่อนไซยบุรี ในประเทศลาว หรือสถานการณ์การเมืองประเทศพม่า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง