เหล่าทัพสายเลือดใหม่ : สร้างความเป็นปึกแผ่นและเป็นกลาง

1 ต.ค. 55
14:39
64
Logo Thai PBS
เหล่าทัพสายเลือดใหม่ : สร้างความเป็นปึกแผ่นและเป็นกลาง

1 ตุลาคมวันนี้ เป็นวันเริ่มต้นทำงานวันแรกของนายทหารที่ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งประจำปี 2556 ซึ่งไม่เพียง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศใหม่เท่านั้น ที่ถูกจับตามองถึงบทบาทหน้าที่ แต่ด้วยสภาวะของการเมืองที่ไม่แน่นอนและภัยคุกคามที่หลากหลาย จึงกลายเป็นข้อสังเกตเรื่องการทำงานร่วมกันของ 3 เหล่าทัพ ที่สร้างความเป็นปึกแผ่น และความเป็นกลางทางการเมืองของกองทัพ

                                            

<"">

ผู้นำทัพฟ้า"ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง" พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ส่งมอบหน้าที่ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้กับพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง นายทหารระดับสูงที่เลื่อนขั้นขึ้นมาด้วยเสียงสนับสนุน ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ แม้คนในกองทัพอากาศจะยอมรับว่า ผู้นำทั้ง 2 มีบุคลิกที่แตกต่างกัน โดย พล.อ.อ.อิทธพร เป็นนายที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน ส่วน พล.อ.อ.ประจิน มีความประนีประนอมและมีลักษณะการปฏิบัติงานเน้นวิชาการ แต่บุคคลทั้ง 2 มีวิสัยทัศน์ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะภารกิจที่ต้องสานต่อเพื่อพัฒนากองทัพอากาศสู่ความเป็นชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน และการสร้างความสามัคคีเพื่อเอกภาพของกองทัพ

4 ปี 4 รัฐบาล ที่ พล.อ.อ.อิทธพร ทำหน้าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศ ถือเป็นช่วงวิกฤตการณ์ของประเทศ ทั้งการชุมนุมทางการเมืองที่รุนแรง และสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ ขณะเดียวกันบทบาทของอดีต ผบ.ทอ.คนนี้ ก็นับว่ามากด้วยสีสันทางการเมือง เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกปลดออกจากตำแหน่งถึง 3 ครั้ง โดยครั้งหนึ่งได้แสดงความเห็นทางการเมือง และกลายเป็นประเด็นตีความว่าเลือกข้าง เพราะปัจจัยเสริมด้านภาพลักษณ์ว่าสืบทอดตำแหน่งจาก พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข อดีตสมาชิก คมช.ที่เคยมีบทบาทสนับสนุนเหตุการณ์รัฐประหาร ปี 2549

<"">
<"">

แม้ก่อนหน้านี้ปัญหาเก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหมของ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน จะทำให้กองทัพถูกจับตามองถึงความขัดแย้งภายใน แต่เมื่อ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ประกาศขอใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการด้วยความสงบ ทำให้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงพร้อม ๆ บรรยากาศใหม่ที่เต็มไปด้วยการรับ-ส่งหน้าที่แบบพี่แบบน้อง แต่หลังจากนี้ ทั้งคนในและคนนอกกองทัพ ต่างตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานร่วมกันของผู้นำเหล่าทัพ ทั้งเก่าและใหม่ ว่าน่าจะเป็นบริบทที่ถอยห่างจากการเมือง โดยเฉพาะขั้วอำนาจเก่า ด้วยกระแสที่เป็น "เหล่าทัพสายเลือดใหม่"

ซึ่งไม่เพียง ผบ.ทอ. ที่มีเส้นทางการเติบโตในชีวิตราชการแบบไร้มลทิน ว่าฝ่ายการเมืองเกื้อหนุนแล้ว ผบ.ทร. พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ก็เป็นนายทหารระดับสูง ที่ไม่เคยถูกครหาว่าเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง หรือแม้แต่ ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ภาพลักษณ์เดิมถูกพลิกกลับและชี้ว่าเริ่มตีตัวออกห่างจากฝ่ายการเมือง ดังนั้นการทำงานของ 3 เหล่าทัพ ไม่เพียงต้องรับมือกับภัยคุกคามที่หลากหลาย เพื่อพิสูจน์ความเป็นปึกแผ่นของกองทัพแต่ความไม่แน่นอนทางการเมือง ยังท้าทายให้เรื่องความเป็นกลางทางอีกด้วย


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง