คุยกับสมาชิกพรรคแห่งชาติสก็อตแลนด์ (SNP): อังกฤษยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มขั้น

ต่างประเทศ
5 พ.ค. 58
10:30
345
Logo Thai PBS
คุยกับสมาชิกพรรคแห่งชาติสก็อตแลนด์ (SNP): อังกฤษยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มขั้น

ภายในห้องเล็กๆ บนอาคารแห่งหนึ่งในเมืองกลาสโกว์ ทีมงานของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคแห่งชาติสก็อตแลนด์ Scottish National Party หรือ SNP กำลังขมักเขม้นอยู่กับการวางแผนและเตรียมสื่อสำหรับหาเสียงของผู้สมัครในช่วง 2 วันสุดท้ายก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ค.2558 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่พรรค SNP ถูกจับตามองมากที่สุด สำหรับคนไทยที่ติดตามการเมืองอังกฤษอยู่ห่างๆ ชื่อของพรรค SNP อาจไม่คุ้นหูเหมือนพรรคใหญ่อย่างพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคแรงงาน แต่ถึงเวลาแล้วที่จะต้องรู้จักพรรคนี้ให้ดีขึ้น

พรรค SNP เป็นพรรคเก่าแก่อายุ 81 ปีที่มีนโยบายสนับสนุนการแยกสก็อตแลนด์เป็นประเทศอิสระจากสหราชอาณาจักร พรรคนี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกมากขึ้นในช่วงของการลงประชามติเรื่องการแยกสก็อตแลนด์เมื่อเดือนกันยายนปี 2557 ฐานเสียงสำคัญของพรรคอยู่ที่สก็อตแลนด์

ในการเลือกตั้งครั้งนี้นักวิเคราะห์การเมืองและสื่อหลายสำนักมองว่า "นิโคลา สเตอร์เจียน" นักการเมืองหญิงวัย 44 ปี หัวหน้าพรรค SNP จะนำพาพรรคให้ได้ที่นั่งในสภาฯ เพิ่มขึ้นมากจาก 6 ที่นั่งในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว หรืออาจจะกวาดทั้ง 59 ที่นั่งในเขตการเลือกตั้งของสก็อตแลนด์เลยก็เป็นได้

บนหน้าเว็บไซต์ของพรรค มีภาพของเบาะที่นั่งสีเขียวในห้องประชุมสภาผูู้แทนราษฎรที่เวสต์มินเตอร์ถูกดัดแปลงเป็นเบาะลายสก็อตพร้อมกับข้อความว่า "เพิ่มที่นั่งในสภาฯ เพิ่มอำนาจให้สก็อตแลนด์" ซึ่งเป็นคำขวัญของพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าว "ไทยพีบีเอสออนไลน์" เดินทางมาที่สก็อตแลนด์เพื่อสังเกตการณ์โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ในกรุงเอดินเบอระ เมืองหลวงของสก็อตแลนด์ บรรยากาศโดยทั่วไปไม่แตกต่างจากกรุงลอนดอนคือแทบไม่มีป้ายหาเสียงตามท้องถนน มีเพียงป้ายเล็กๆ สนับสนุนพรรคการเมืองต่างๆ ที่ประชาชนติดตามหน้าต่างบ้านและสำนักงานบางแห่งเท่านั้น เรียกได้ว่าเมื่อมองผ่านๆ แทบไม่รู้เลยว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ผู้สมัครเน้นการเดินหาเสียงแบบเคาะประตูบ้าน ขณะที่ทีมอาสาสมัครก็เดินสายแจกแผ่นพับใบปลิวหรือส่งไปรษณีย์ไปตามที่อยู่ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเมืองกลาสโกว์เป็นสมรภูมิการเลือกตั้งที่น่าสนใจพื้นที่หนึ่ง เนื่องจากกลาสโกว์เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของสก็อตแลนด์และเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหราชอาณาจักร อยู่ห่างจากกรุงลอนดอนมาทางทิศเหนือประมาณ 660 กม.และห่างจากกรุงเอดินเบอระประมาณ 80 กิโลเมตร มีประชากรประมาณ 596,000 คน

                         

<"">


แพทย์หญิงลิซา คาเมรอน
เป็นหนึ่งในผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค SNP ในเขตการเลือกตั้งของกลาสโกว์ จิตแพทย์วัย 44 ปีให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสว่า จากประสบการณ์การเป็นจิตแพทย์มากว่า 20 ปีเธอพบว่าคนไข้ของเธอจำนวนมากมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่อันเนื่องจากปัญหาด้านสภาสังคมและเศรษฐกิจ เธอจึงตัดสินใจลงเล่นการเมืองเพราะคิดว่าการเป็นส.ส.จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนสก็อตแลนด์ได้

พญ.ลิซาซึ่งลงสมัครส.ส.เป็นครั้งแรกมั่นใจว่าเธอจะสามารถช่วงชิงที่นั่งจากพรรคแรงงานซึ่งชนะการเลือกตั้งในเขตนี้เมื่อครั้งที่แล้วได้สำเร็จ แม้ว่าเธอจะต้องแข่งขันกับผู้สมัครอีก 5 คน รวมทั้งอดีตส.ส.จากพรรคแรงงานด้วย

เมื่อถามว่ามั่นใจแค่ไหนว่าจะชนะการเลือกตั้ง ลิซาบอกว่าเธอพยายามทำให้ดีที่สุดในทุกๆ วันเพื่อให้คะแนนเสียง เพราะทุกเสียงมีค่า แต่ค่อนข้างมั่นใจเพราะว่าทุกบ้านที่ไปเคาะประตูหาเสียง ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประชาชน

"ถ้าดิฉันชนะการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.นี้และได้เป็นส.ส.ในสภาเวสต์มินสเตอร์ ดิฉันตั้งใจจะผลักดันนโยบายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างระบบสวัสดิการ สร้างงาน และทำให้เศรษฐกิจสกอตแลนด์แข็งแกร่ง กล่าวรวมๆ คือทำให้เสียงของคนสกอตแลนด์ได้รับความสำคัญ และถ้ามีโอกาสก็อยากจะทำงานคณะกรรมาธิการด้านสุขภาพจิต เนื่องจากมีประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้โดยตรง" พญ.ลิซากล่าวระหว่างพักจากการเดินหาเสียงในย่านชานเมืองกลาสโกว์เมื่อวานนี้ (4 พ.ค.)

ผู้สมัครพรรค SNP ยังได้ตอบโต้พรรคคู่แข่งอย่างพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคแรงงานที่มักจะโจมตีว่การเลือกพรรค SNP จะนำไปสู่การแบ่งแยกสหราชอาณาจักรว่า ข้อกล่าวหานี้ไม่เป็นความจริง

"การทำประชามติแยกสกอตแลนด์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อปีก่อน ชาวสก็อตได้แสดงความต้องการของตนแล้ว ตอนนี้พรรค SNP และผู้สมัครส.ส.ทุกคนยอมรับว่าสกอตแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ด้วยเหตุนี้เราจึงทุ่มเททำงานหนักเพื่อให้ได้เข้าไปทำงานในสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตามพรรคของเราเชื่อว่าสก็อตแลนด์สามารถปกครองตนเองได้และแยกตัวเป็นประเทศได้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่พรรค SNP จะทำให้เกิดขึ้นได้เพราะผู้ที่ตัดสินที่แจ้งจริงคือประชาชนชาวสก็อต" ผู้สมัครพรรค SNP กล่าว

นอกจากนี้ พญ.ลิซายังได้แสดงความคิดเห็นเรื่องการเป็นนักการเมืองหญิงในสหราชอาณาจักร เธอบอกว่าโดยส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าสภาเวสต์มินสเตอร์เป็นสภาของนักการเมืองชายและเป็นอย่างนี้มาหลายร้อยปีแล้ว ทำให้การช่วงชิงที่นั่งในสภาฯ ของนักการเมืองหญิงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

"ดิฉันคิดว่ายิ่งมีนักการเมืองหญิงเข้าไปในสภาฯ มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งดีมากเท่านั้น เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสภาไปในทางที่ดีขึ้น" พญ.ลิซ่ากล่าวพร้อมกับยกย่องหัวหน้าพรรคของเธอ คือ นิโคลา สเตอร์เจียนว่าเป็นแบบอย่างของนักการเมืองหญิงที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงสก็อตแลนด์สามารถก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองของสหราชอาณาจักรได้

ลองมาฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำกิจกรรมทางการเมืองดูบ้าง จอร์แดน ลินด์เซย์ และ รอส ฮัตตัน เป็นทีมงานหาเสียงของ พญ.ลิซา ทั้งสองคนยังไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันพฤหัสบดีนี้ พวกเขาบอกตรงกันว่ามีความสนใจการเมืองมากขึ้นตั้งแต่มีการจัดลงประชามติเรื่องการแยกสก็อตแลนด์เมื่อปีที่แล้ว
 
                           

<"">

จอร์แดน อายุ17 ปีแสดงทัศนะว่า คนรุ่นใหม่เป็นเสียงที่สำคัญของการเมือง ในการลงประชามติแยกประเทศเมื่อปีที่แล้วเสียงของคนรุ่นใหม่มีความสำคัญมากเพราะคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไปมีสิทธิออกเสียงลงประชามติ ซึ่งเขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ใช้สิทธิเป็นครั้งแรกและทำให้เขาสนใจการเมืองมาจนถึงตอนนี้

"การลงประชามติทำให้คนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นอย่างมหาศาล ไม่สำคัญว่าเขาจะคัดค้านหรือสนับสนุนให้สก็อตแลนด์แยกตัวจากสหราชอาณาจักร สิ่งที่สำคัญคือทุกคนต้องการที่จะไปใช้สิทธิออกเสียง และคนอายุ 16-24 ที่ไปลงประชามติเมื่อปีที่แล้วมีจำนวนมากถึง 40 เปอร์เซนต์ของผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่าคนรุ่นใหม่ของสกอตแลนด์มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น" จอร์แดนกล่าวขณะกำลังผลิตสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ผ่านรถขยายเสียงของพรรค "คนรุ่นใหม่ในสกอตแลนด์สนใจการเมืองกันมาก เพื่อนๆ ของผมในเฟซบุ๊กมีแต่คนโพสต์เรื่องเกี่ยวกับการเมือง เราคุยกันเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องอื่นหรือหาที่กินดื่มเที่ยวกัน"

ตามกฎหมาย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักรต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนของสกอตแลนด์ (Member of Scottish Parliament) และการลงประชามติต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป

รอส อายุ 16 ปี เป็นอาสาสมัครอีกคนหนึ่งที่ร่วมทีมหาเสียงของ พญ.ลิซา แม้ว่าเขาจะยังไม่มีสิทธิเลือกตั้งในคราวนี้แต่รอสบอกว่าเขาช่วยหาเสียงอย่างเต็มที่เพราะอยากให้พรรค SNP มีส.ส.เข้าไปนั่งในสภาฯ ให้มากที่สุด หน้าที่ของรอสคือเดินเคาะตามประตูบ้าน แจกใบปลิว แผ่นพับและพูดเชิญชวนให้คนเลือกพรรค SNP

"การจัดลงประชามติเมื่อปีที่แล้วทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมืองเพิ่มขึ้นมาก เราพูดคุยกันเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนหรือคัดค้านพวกเรามาเจอกันแล้วก็ถกกันเรื่องนี้ ผมคิดว่าการที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมืองมากขึ้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะพวกเราเป็นอนาคตของสก็อตแลนด์" รอสแสดงความเห็น

ขณะที่ ลินดา ฟาบิอานี สมาชิกอาวุโสของพรรค SNP ที่ดูแลพื้นที่กลาสโกว์กล่าวว่า การลงประชามติเรื่องการแยกสก็อตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักรเมื่อปีที่แล้วทำ ให้ผู้คนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นและอาจส่งผลให้พรรค SNP ซึ่งสนับสนุนการลงประชามติในครั้งนั้นได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จากที่มีได้เพียง 6 ที่นั่งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้ว

ลินดามีตำแหน่งเป็นสมาชิกรัฐสภาสก็อตแลนด์ซึ่งเป็นสภาท้องถิ่นที่ชาวสก็อต แลนด์เลือกตั้งผู้แทนของตนเข้ามาทำหน้าที่ออกกฎหมายและดำเนินนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับสก็อตแลนด์ ในปี 2559 จะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาสก็อตแลนด์ซึ่งลินดาก็จะลงสมัครด้วย

                              

<"">

ลินดายอมรับว่าชาวสก็อตแลนด์ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคที่สนับ สนุนให้สก็อตแลนด์แยกตัวจากสหราชอาณาจักร แต่เธอก็เชื่อว่าคนกลุ่มนี้ก็ยังจะเลือกพรรค SNP อยู่เพราะต้องการให้ ส.ส.ของพรรคเข้าไปปกป้องผลประโยชน์ของชาวสก็อตแลนด์ในสภาผู้แทนราษฎร

สมาชิกรัฐสภาสก็อตแลนด์ให้ความเห็นต่อการที่หลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยยกให้ระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของอังกฤษเป็นแบบ อย่างว่า จริงๆ แล้วอังกฤษเองก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ เช่น ยังไม่มีการกระจายอำนาจเท่าที่ควร นอกจากนี้การที่สมาชิกวุฒิสภา (House of Lords) มาจากการแต่งตั้ง

ข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐสภาของสหราชอาณาจักรระบุว่า สมาชิกวุฒิสภามีทั้งหมด 790 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาอาชีพ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อให้พระราชินีแห่งอังกฤษมีพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้ง นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับการเสนอชื่อโดยคณะ กรรมาธิการสรรหาที่เป็นอิสระ

"สหราชอาณาจักรจะเป็นต้นแบบด้านประชาธิปไตยให้ประเทศอื่นๆ ได้อย่างไร ในเมื่อวุฒิสภายังมาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับเลือกจากประชาชน" ลินดากล่าวทิ้งท้าย

กุลธิดา สามะพุทธิ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงานจากสหราชอาณาจักร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง