"ทางผ่านของบีระ ชีวิตไร้รากของเด็กเร่ร่อน" ออกอากาศ 11 ต.ค. นี้

Logo Thai PBS
"ทางผ่านของบีระ ชีวิตไร้รากของเด็กเร่ร่อน" ออกอากาศ 11 ต.ค. นี้

การเร่ร่อนจากเหนือจรดใต้ของประเทศไทยเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า ทำให้เด็กหนุ่มชาวโรฮิงญาต้องต่อสู้ ดิ้นรน เพื่อเอาชีวิตรอด ถูกนำเสนอผ่านมุมมองอดีตเด็กเร่ร่อน 5 คน ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง "ทางผ่านของบีระ ชีวิตไร้รากของเด็กเร่ร่อน" ทางไทยพีบีเอส

หนีความยากจนจากบ้านเกิดในประเทศพม่า มาได้รับความช่วยเหลือให้อาศัยในมูลนิธิพันธกิจเด็กและชุมชน อ.แม่สาย จ.เชียงราย แต่บีระ กลับเลือกใช้ชีวิตเร่ร่อน เพราะต้องการแสวงหาอนาคตที่ดีกว่า จนต้องตกอยู่ในวังวนของธุรกิจการค้ามนุษย์และยาเสพติด เรื่องจริงของเด็กหนุ่มชาวโรฮิงญา ถ่ายทอดโดยทีม 891 นานาสเตชั่น ในภาพยนตร์สารคดี “ทางผ่านของบีระ ชีวิตไร้รากของเด็กเร่ร่อน” สะท้อนภาพปัญหาของกลุ่มคนไร้สัญชาติ ที่ยังคงตกค้างในสังคมไทยเป็นจำนวนไม่น้อย ผ่านมุมมองของเยาวชนนักทำหนังทั้ง 5 ผู้มีประสบการณ์ตรงจากการเคยเป็นเด็กเร่ร่อนในอดีต 

<"">
<"">

 

กัลยา เชอมือ (น้ำ)สมาชิกทีม 891 นานาสเตชั่น กล่าวว่า “ประเด็นตรงนี้เราอยู่กับมันมาโดยตลอด โดยเพื่อนๆ ของเราก็มีพื้นฐานเป็นคนเร่ร่อนมาแล้ว จึงอยากสะท้อนถึงปัญหาเด็กเร่ร่อนที่มันเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเพื่อน มากมายที่อยู่บนสะพาน ชีวิตของเขาที่เราต้องไปเห็นและลงพื้นที่ตลอดเวลา อยากให้ผู้คนเห็นประเด็นตรงนี้ และอยากให้คนอื่นรับรู้“

“ผมว่าเขาต้องการที่จะอยู่เหมือนคนปกติได้ เช่น เขาอยากจะมีที่นอนที่ไม่ต้องวิ่งหนีใครใช่มั้ย เมื่อเขาหิว เขาก็อยากที่จะมีกิน เมื่อเขาอยากเรียน เขาก็ได้เรียนหนังสือ ผมคิดว่าเขาต้องการเหมือนที่เราต้องการ โดยสรุปเรื่องปัจจัย 4 เป็นเรื่องใหญ่สุด โดยเฉพาะในที่ที่เขาอยากจะอยู่ คนที่มีใจรักเขาได้ ตรงนี้ผมว่าคือสิ่งเขาต้องการ” วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าว

<"">
<"">

 

“สารคดีเรื่องทางผ่านของบีระเป็นตัวอย่างที่ดี เรื่องที่สำคัญๆ ทางสังคมไม่จำเป็นที่จะต้องนำเสนอแบบหนักๆ ในข่าวเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าสารคดีเชิงข่าวที่ผู้ทำมีความเข้าอกเข้าใจในประเด็นอย่างชัดเจน มีแรงผลักดัน มีแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์ผลงานได้ดี มีความพยายามที่จะสร้างสรรค์เชิงศิลปะ ผมว่ามันสามารถสร้างการรับรู้ที่มีน้ำหนัก มีพลังที่จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้” ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าว

<"">

 

กว่า 2,000 กิโลเมตร จากเหนือสุดแม่สายถึงชายแดนใต้มาเลเซีย ที่อดีตเด็กเร่ร่อนทีม 891 นานาสเตชั่น เดินทางตามรอยเส้นทางที่บีระเคยผ่าน ไม่เพียงใช้ทักษะการผลิตสื่อที่พวกเธอมี บอกเล่าวงจรชีวิตของเด็กเร่ร่อนสู่สังคม หากยังหวังจุดประกายให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่อไปในวงกว้าง "ทางผ่านของบีระ ชีวิตไร้รากของเด็กเร่ร่อน" ออกอากาศตอนแรกในวันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม เวลา 22.00 น. ทางไทยพีบีเอส


ข่าวที่เกี่ยวข้อง