การเพิ่มขึ้นของรถยนต์กับปัญหารถติด

9 ต.ค. 55
14:31
1,298
Logo Thai PBS
การเพิ่มขึ้นของรถยนต์กับปัญหารถติด

วันนี้ (9 ต.ค.)สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ระบุว่า จำนวนความเร็วที่ใช้ในการขับรถของคนกรุงเทพมหานคร ลดลงในช่วงเวลาเร่งด่วน เนื่องจากมีรถยนต์เพิ่มขึ้นมากถึง 1,200 คันต่อวัน ส่งผลให้การจราจรติดขัดหลายพื้นที่ ขณะที่นักวิชาการด้านระบบขนส่งมวลชน วิเคราะห์ว่าความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย ส่งผลให้การเชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่

                                   

<"">

สภาพการจราจรที่คับคั่ง โดยเฉพาะในช่วงเช้าเเละช่วงค่ำของทุกๆวัน ยังคงเป็นปัญหาที่ชาวกรุงเทพมหาคร ต้องเผชิญอย่างยืดเยื้อ นักวิชาการหลายคนวิเคราะห์ว่า ปัญหารถติดในช่วงนี้เกิดจากหลายปัจจัย มีทั้งสาเหตุจากฝนตกหนัก การดำเนินงานก่อสร้างรถไฟฟ้าเเละรถไฟฟ้าใต้ดินในหลายจุด เเต่ปัจจัยหนึ่งที่มีการพูดถึงมากในขณะนี้ คือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ในกทม.
                                             
<"">

ข้อมูลทางสถิติของกระทรวงคมนาคมพบว่า จำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมเฉพาะกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 มีทั้งสิ้น 7,251,999 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.ปีนี้ (2555) พบว่า มีอัตราการจดทะเบียนสูงถึงเดือนละประมาณ 50,000 คัน ซึ่งเมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มา จะเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 20,000 - 30,000 คัน ในขณะที่ถนนมีความยาว 8,000 กิโลเมตรและสามารถรองรับรถยนต์ได้เพียง 1,600,000 คัน แต่ปรากฏว่าขณะนี้มีรถยนต์แล้วกว่า 7,000,000 คัน
                                            
<"">

เเม้ที่ผ่านมา รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจะพยายามผลักดันเเละชูนโยบายเเก้ปัญหารถติด เเต่การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลบ่อยครั้ง ทำให้นโยบายแก้ปัญหารถติดขาดความต่อเนื่อง
<"">
<"">

ปัญหารถติดได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ เป็นวงกว้าง การชูนโยบายแก้ปัญหารถติด จึงเป็นวาทะกรรมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในทุกครั้งก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ล่าสุด กระทรวงคมนาคม เสนอแผนการเเก้ปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครเป็น 3 ระยะ

โดยในระยะสั้นมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 8 หน่วยงาน จัดทำเเผนเร่งด่วน เช่นจัดเตรียมรถยก ให้เป็นหน่วยเเก้ไขปัญหาเคลื่อนที่เร็ว จัดระเบียบรถตู้สาธารณะ โดยกำหนดจุดจอดรับส่งให้เป็นระเบียบเรียบร้อย การกำหนดระยะเวลาปล่อยรถให้เหลื่อมช่วงเวลารถติด เป็นต้น

ระยะกลาง 1 - 3 ปี มีการกำหนดจุดที่จะเเก้ปัญหาในช่วงทางเเยก ถนนคอขวด จุดกลับรถ เเละป้ายรถโดยสารประจำทาง รวมถึงพิจารณา มติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการเหลื่อมเวลาเข้างาน เเละเลิกงานให้เหมาะสมและระยะยาว 3 ปีขึ้นไป จะเน้นการลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน รวมถึงการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น โดยชูนโยบายรถไฟฟ้า 10 สายทาง

นายนคร จันทศร ที่ปรึกษาผู้อำนวยการโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางราง มองว่า การเเก้ปัญหาเฉพาะจุดในระยะสั้นเเละการเเก้ปัญหาเชิงนโยบายโดยการเน้นสิ่งปลูกสร้างเพื่ออำนวยความสะดวกเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะช่วยเเก้ปัญหารถติดอย่างยั่งยืน

รถติดกลายเป็นภาพลักษณ์ของกทม. ที่ยังหาทางแก้ไขไม่ได้ เพราะการมีจำนวนรถที่มากกว่าพื้นที่ถนนที่จะรองรับ รวมถึงการไม่เชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะทั้ง รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน รถโดยสารประจำทาง และเรือให้ครอบคลุม เพิ่มความสะดวกสบายแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่ผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล จะหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ปัญหารถติด ก็ยังคงมีให้เห็นและทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง