กลุ่มแนวร่วมก่อความไม่สงบไร้องค์กรนำ อุปสรรคเจรจาสันติภาพภาคใต้

10 ต.ค. 55
14:39
66
Logo Thai PBS
กลุ่มแนวร่วมก่อความไม่สงบไร้องค์กรนำ อุปสรรคเจรจาสันติภาพภาคใต้

แม้ว่าในอดีตรัฐบาลของไทยจะประสบความสำเร็จในการเจรจา เพื่อยุติความขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา แต่การพูดคุยสันติภาพระหว่างกองทัพภาคที่ 4 กับกลุ่มแนวร่วมก่อความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ยังคงมีอุปสรรค โดยเฉพาะการไม่มีองค์กรนำที่ชัดเจนของกลุ่มแนวร่วมหรือการเลือกใช้วิธีการพูดคุยแบบเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งอาจจะทำให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพไม่ประสบความสำเร็จ

<"">
<"">

ทุกความขัดแย้งแก้ไขได้ด้วย 2 วิธี คือ การใช้กำลัง หรือการเจรจา แต่การจะแก้ไขความขัดแย้งอย่างถาวร มีทางออกเดียวเท่านั้น คือ การเจรจา คือ ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความรุนแรง ที่ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการเจรจาเพื่อยุติความรุนแรง กับพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา เห็นว่า เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ความขัดแย้งยุติลงได้

การเจรจาสามารถทำได้ใน 4 ระดับคือ แบบใต้โต๊ะ แบบเปิดเผย แบบพูดคุย และแบบเจรจาต่อรอง ซึ่งในอดีตเลือกใช้แบบใต้โต๊ะ ก่อนจะเปิดเผยผลความสำเร็จของการเจรจาสู่สาธารณะ แต่วิถีทางที่กองทัพภาค 4 ปัจจุบันเลือกใช้ด้วยการนำแนวร่วมกลุ่มบีอาร์เอ็นคอร์ออดิเน็ตมาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการประสานงาน และรณรงค์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการพูดคุยแบบเปิดเผย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีแนวร่วมหลายกลุ่มในพื้นที่จึงต้องการส่งสารไปยังกลุ่มแนวร่วมอื่นๆ ให้หันมาพูดคุยกัน

แต่การพูดคุยสันติภาพแบบเปิดเผย ก็อาจทำให้การทำงานยากขึ้นเพราะความคิดแตกต่างของคนหลายฝ่ายอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และการขาดความเป็นเอกภาพของรัฐ จึงอาจเป็นอุปสรรคในการพูดคุย

สิ่งที่รัฐจะต้องคิดต่อหลังการพูดคุยสันติภาพ ในมุมมองของ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 คือ การกำหนดรูปแบบการปฏิบัติกับแนวร่วม ทั้งการเยียวยา การนิรโทษกรรม หรือการช่วยเหลือด้านการเงินความเป็นอยู่ รวมถึงการสร้างการยอมรับของสังคมต่อคนกลุ่มนี้ ก่อนจะส่งมอบอำนาจให้ประชาชนดูแลกันเอง

แม้การพูดคุยสันติภาพ จะมีปัจจัยท้าทายหลายอย่าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การหันหน้ามาคุยกันของแนวร่วมและเจ้าหน้าที่ได้สร้างความหวังให้หลายคน ที่จับตามองความเคลื่อนไหวของแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยยาขนานนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง