"ฮิลลารี แมนเทล" นักเขียนหญิงอังกฤษคว้ารางวัลบุ๊คเกอร์ไพรซ์ ครั้งที่ 2

Logo Thai PBS
"ฮิลลารี แมนเทล" นักเขียนหญิงอังกฤษคว้ารางวัลบุ๊คเกอร์ไพรซ์ ครั้งที่ 2

แม้เป็นตำนานที่ชาวอังกฤษคุ้นเคยอย่างดี แต่เรื่องราวอื้อฉาวในสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ที่ตีความใหม่โดย ฮิลลารี แมนเทล สร้างความสนใจในแวดวงวรรณกรรมอังกฤษ และได้รับเลือกให้เป็นนักเขียนสตรี และชาวอังกฤษคนแรกที่คว้ารางวัลบุ๊คเกอร์ไพรซ์ สำหรับนักเขียนอังกฤษเป็นครั้งที่ 2

ช่วงเวลาที่อังกฤษประกาศแยกตัวจากนิกายโรมันคาทอลิก และก้าวสู่ชาติมหาอำนาจในสมัยราชวงศ์ทิวดอร์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ที่มีผู้นำมาดัดแปลงสร้างเป็นละคร และภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง และเมื่อ ฮิลลารี แมนเทล นักเขียนหญิงชาวอังกฤษนำพล็อตเรื่องนี้มาเขียนเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ใน Bring Up the Bodies ทำให้เธอคว้ารางวัลแมนบุ๊คเกอร์ ไพรซ์ ประจำปีนี้ และทำสถิติเป็นนักเขียนหญิง และชาวอังกฤษคนแรกที่คว้ารางวัลใหญ่ในวงการวรรณกรรมภาษาอังกฤษเป็นครั้งที่ 2  ต่อจาก ปีเตอร์ แครีย์ นักเขียนจากออสเตรเลีย และ เจเอ็ม โคเอซี่ จากแอฟริกาใต้ ที่เคยคว้ารางวัลนี้มาได้ 2 ครั้ง

Bring Up the Bodies เป็นตอนที่ 2 ต่อจาก Wolf Hall ที่เคยคว้าบุ๊คเกอร์ ไพรซ์เมื่อ 3 ปีก่อน เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของอังกฤษในศตวรรษที่ 16 จากมุมมองของ โทมัส ครอมเวลล์ อัครมหาเสนาบดีในสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ผู้มีบทบาทสำคัญในราชวงศ์แม้แต่การเลือกคู่ครองให้กับพระราชาอังกฤษ โดยแมนเทลเปลี่ยนภาพลักษณ์ครอมเวลล์ จากขุนนางเจ้าเล่ห์มาเป็นคนที่ใช้ไหวพริบเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ผลงานเรื่องนี้ทำให้เธอได้รับการยกย่องว่าสามารถนำเรื่องราวความขัดแย้งในอดีต มาเล่าเรื่องเปรียบเทียบกับการเมืองในปัจจุบันได้อย่างแยบยล

นอกจากเงินรางวัล 2.5 ล้านบาทแล้ว Bring up the Bodies ยังได้รับความสนใจส่งให้มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 ล้านปอนด์ ซึ่งก่อนหน้านี้ตีพิมพ์ไปแล้วกว่า 1 แสนฉบับ มากกว่ายอดขายของคู่แข่งรอบสุดท้ายทั้ง 5 เล่มรวมกัน แมนเทล กล่าวว่า ไม่เคยคิดว่าเก่งกาจกว่าผู้เข้าชิงรายอื่น เพราะหลายคนเป็นนักเขียนดัง ตั้งแต่เธอเริ่มต้นอาชีพนักเขียนเมื่อวัยเลย 30 ปีมาแล้ว

บุ๊คเกอร์ ไพรซ์ เป็นรางวัลประจำปีที่มอบให้กับนักเขียนในเครือจักรภพอังกฤษ ไอร์แลนด์ และซิมบับเว ที่มีผลงานตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ โดยช่วงหลังมักถูกวิจารณ์ว่าเลือกหนังสือที่อ่านง่ายเป็นหลัก จนปีนี้มีการเปลี่ยนแนวทางด้วยการให้หนังสือที่มีความซับซ้อน และคงความน่าสนใจหลังอ่านจบหลายรอบให้เข้าชิงมากขึ้น เช่น Umbrella ของ วิล เซลว์ หนึ่งในตัวเต็งที่เขียนทั้งเล่มโดยไม่มีย่อหน้า โดยปีเตอร์ สลอตฮาร์ด ประธานคณะกรรมการตัดสินกล่าวว่า บุคเกอร์ ไพรซ์ปีนี้ มองข้ามผลงานที่อ่านสนุกเพียงครั้งเดียว แต่ให้ความสำคัญกับหนังสือที่เพิ่มคุณค่าทุกครั้งเมื่อได้กลับไปอ่าน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง