กมธ.พิจารณา ร่างพ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ นัดแรกวันนี้

สังคม
18 ต.ค. 55
05:10
125
Logo Thai PBS
กมธ.พิจารณา ร่างพ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ นัดแรกวันนี้

คณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และจัดสวัสดิภาพสัตว์ มีการประชุมนัดแรกวันนี้ (18 ต.ค.) เพื่อพิจารณาปรับแก้ เนื้อหาสาระในร่างพระราชบัญญัติ โดยภาคประชาชนเตรียมเสนอข้อมูลเพิ่มเติม หลังพบว่าบางมาตราในร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ในส่วนเนื้อหาเรื่องของการทารุณกรรมสัตว์

คณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และจัดสวัสดิภาพสัตว์ นัดประชุมพิจารณาแปรยัติ ในช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อหารือเนื้อหาสาระในร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการในวาระแรกไปก่อนหน้านี้ โดยมีตัวแทนภาคประชาชนที่ร่วมกันเสนอกฎหมายเข้าร่วมด้วย เช่น สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย, สมาคมป้องกันการทารุณกรรมสัตว์แห่งประเทศไทย

นายโรเจอร์ โลหนันทน์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย หนึ่งในคณะกรรมาธิการฯ บอกว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลายประเด็นที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ที่กำหนดอำนาจหน้าที่การทำงานของคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบ และกำหนดให้องค์กรทำงานด้านสัตว์ต้องขึ้นทะเบียนจัดตั้งเป็นองค์กรจัดการสวัสดิภาพสัตว์อย่างถูกต้อง และจัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ในทุกภูมิภาค รวมถึงบทลงโทษที่ชัดเจน เช่น มาตรา 20 ที่ห้ามมิให้เจ้าของปล่อยละทิ้งสัตว์ที่อยู่ในการดูแลโดยไม่มีเหตุอันควร หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ยอมรับว่า ในร่างกฎหมายดังกล่าวยังมีบางมาตราที่กำหนดคำนิยาม และเนื้อหา ไม่ตรงกันระหว่างร่างกฎหมายฉบับรัฐบาล และภาคประชาชน โดยเฉพาะคำนิยามการทารุณกรรมสัตว์ เช่น มาตรา 18 ฉบับของรัฐบาล ระบุว่า การให้สัตว์ต่อสู้กันตามประเพณี ไม่เป็นการทารุณกรรมสัตว์ แต่ในมาตรา 25 ของฉบับภาคประชาชน เห็นว่า การนำสัตว์มาต่อสู้กันเป็นการทารุณกรรมสัตว์ จึงเตรียมนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาปรับแก้ร่างกฎหมายให้มีความสมบูรณ์ และชัดเจนมากขึ้น ก่อนสรุปร่างกฎหมายเพื่อนำเข้าการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 และ วาระ 3 ต่อไป

ขณะที่ กลุ่มเครือข่ายพิทักษ์สัตว์ภาคประชาชนจะเข้ามอบดอกไม้ให้กำลังใจประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณา หลังภาคประชาชนเรียกร้องมานานกว่า 15 ปี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง