คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ชี้ประมูล 3 จีผิดระเบียบประมูลอีอ๊อกชั่น

Logo Thai PBS
คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ชี้ประมูล 3 จีผิดระเบียบประมูลอีอ๊อกชั่น

คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งหนังสือด่วนที่สุด ระบุ "กสทช." ดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริง ขัดระเบียบวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 ข้อ 4 ขอให้มีการวอนทบทวน เหตุรัฐสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล และคณะกสทช.อาจเข้าข่ายทำผิดกม.

สำนักข่าวอิศรา เผยแพร่ข่าวว่า คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ส่งหนังสือ "ด่วนที่สุด" ที่ กค (กพวอ) 0421.3/42301 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2555 ถึงประธาน กสทช. โดยอ้างถึงการประมูลไลเซ่นส์ 3 จี ที่มีการแบ่งคลื่นความถี่ออกเป็น 9 ช่วง (สลอต) ซึ่งกำหนดให้ผู้เข้าประมูล 1 ราย ต้องยื่นข้อเสนอ 3 สลอต และผลปรากฏว่า ได้ผู้ชนะการประมูลซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการสื่อสารรายใหญ่ๆ ในประเทศ 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด , บริษัท ดีแทคเนคเวอร์ค จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด โดยทั้ง 3 ราย ประมูลได้คลื่นความถี่ 3 สลอตเท่ากัน

ซึ่งคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) พิจารณาแล้ว เห็นว่า ในหลักการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 ข้อ 4 กำหนดให้การจัดหาพัสดุของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐที่อยู่ในสังกัดการบังคับบัญชาหรือการกำกับของฝ่ายบริหารตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวที่กิจการ โครงการ หรือการก่อสร้างมีมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ดำเนินการตามระเบียบนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจาก กวพ.อ.ให้จัดหาด้วยวิธีการอื่นได้ โดยเจตนารมณ์ของระเบียบฯ พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่ถือปฏิบัติโดยทั่วไป ที่ต้องกำหนดเป็นการเปิดกว้าง และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันด้านราคาอย่างเป็นธรรม

แต่การดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้ประมูลเพียง 3 ราย โดยมีการเสนอราคาเพิ่มขึ้นน้อยครั้ง เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่กำหนดให้มีการประมูล และคลื่นความถี่ที่ประมูลมีจำนวนพอดีกับผู้เสนอราคาที่สามารถจัดสรรได้รายละ 3 สลอต กรณีจึงถือได้ว่าการประมูลดังกล่าวไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของการประมูลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับผู้ชนะการประมูลจะได้รับประโยชน์จากการให้บริการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เนื่องจากคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น หากการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่กรณีนี้เป็นไปอย่างไม่เหมาะสม หรือมีอาจมีลักษณะการสมยอมราคาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) จะส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล และคณะกรรมการ กสทช.อาจอยู่ในข่ายต้องรับผิดตามกฎหมาย

ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าว ลงนามโดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่แทนปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง