อาร์เอส แจงกรณีบังคับฟีฟ่า ถ่ายทอดบอลโลกรอบสุดท้าย

กีฬา
3 พ.ย. 55
05:52
77
Logo Thai PBS
อาร์เอส แจงกรณีบังคับฟีฟ่า ถ่ายทอดบอลโลกรอบสุดท้าย

เนื่องจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 และร่างประกาศหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป

โดย 1 ใน 7ประเภทรายการโทรทัศน์ที่อยู่ในข้อบังคับนี้คือการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ ทาง บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ได้รับสิทธิ์มาจากทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ทางบริษัทจึงขอแสดงความคิดเห็นต่อร่างดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางอาร์เอส มองว่าหลักเกณฑ์นี้ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง และจะนำมาซึ่งปัญหาและความวุ่นวายอีกมากมาย ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลแห่งชาติยุโรปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการแบบใช้คลื่นความถี่ เพราะเหมือนเป็นการบังคับให้เราซึ่งได้รับสิทธิการถ่ายทอดฟุตบอลโลกจากฟีฟ่า ต้องไปซื้อเวลาการถ่ายทอดจากผู้ประกอบการที่ใช้คลื่นความถี่ ทั้งที่มีสถานีของตนเองอยู่แล้ว

เมื่อผู้ประกอบการแบบใช้คลื่นความถี่ได้รับสิทธิการถ่ายทอดมาก็สามารถเผยแพร่ผ่านสถานีของตนเองได้โดยไม่ต้องซื้อเวลาถ่ายทอดจากใคร ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2014 รอบสุดท้าย (FIFA WORLD CUP 2014 FINAL) ที่ทางอาร์เอสได้รับสิทธิ์มาจากฟีฟ่าหรือสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาตินั้น ไม่ใช่รายการที่เป็นลิขสิทธิ์ของรัฐหรือสาธารณะประโยชน์ของแผ่นดิน หากแต่เป็นลิขสิทธิ์ของบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นบุคคลที่มิได้อยู่ภายในราชอาณาจักรไทย และภายใต้บังคับของกฎหมายไทย อาร์เอสในฐานะผู้ได้รับสิทธิจำเป็นต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ฟีฟ่าบังคับใช้กับทุกประเทศทั่วโลก ข้อกำหนดหรือข้อบังคับดังกล่าวของกสทช. จึงเป็นการกระทบถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ (รวมถึงสิทธิของผู้ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์) อันเป็นการออกกฎที่ไม่เป็นมาตรฐานสากล และไม่เคารพต่อกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและจะไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ

รวมถึงจะทำให้เกิดผลเสียแก่ประชาชนส่วนรวม เพราะต่อไปจะไม่มีเอกชนรายใดลงทุนประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดรายการทั้งหลายดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อประชาชน เนื่องจากความไม่แน่นอนในเรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่ที่ไม่เป็นหลักสากล นอกเสียจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือ ภาครัฐ หรือ ผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่เท่านั้น จะเป็นผู้ยอมลงทุนจ่ายค่าลิขสิทธิ์แก่เจ้าของลิขสิทธิ์เสียเอง ประชาชนจึงมีโอกาสได้รับชมการถ่ายทอดดังกล่าวได้ ส่วนผู้ที่ให้บริการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่คงต้องจะถูกลดทอนโดยข้อกำหนดดังกล่าว

ทั้งนี้ อาร์เอส ได้รับสิทธิ์การเผยแพร่การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2014 รอบสุดท้าย ( FIFA WORLD CUP 2014 FINAL) มาล่วงหน้าเป็นเวลาหลายปี การออกข้อกำหนดจึงไม่ควรมีผลย้อนหลัง อันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการ และอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการฟ้องร้องให้ยกเลิกประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว

“บริษัทฯไม่เห็นด้วยกับการกำหนดรายการโทรทัศน์ที่ต้องให้บริการเป็นการทั่วไปเท่านั้น ของประกาศฉบับนี้โดยไม่มีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจนและเหมาะสม การแข่งขันกีฬาในระดับโลกมีอีกมากมายหลายประเภท เราไม่แน่ใจว่ากสทช.ใช้เกณฑ์อะไรและทำไปเพื่อใคร ได้คำนึงหรือไม่ว่าจะเกิดความเสียหาย และความวุ่นวายตามมา” พรพรรณ กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง