ปลุกชีพกฎหมายเปิดป่า – ค้าสัตว์ นักวิชาการชี้ไม่เกิน 50 ปีป่าไม้-สัตว์ป่าไทยล่มสลาย

6 พ.ค. 58
16:43
205
Logo Thai PBS
ปลุกชีพกฎหมายเปิดป่า – ค้าสัตว์  นักวิชาการชี้ไม่เกิน 50 ปีป่าไม้-สัตว์ป่าไทยล่มสลาย

จากแนวคิดแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผลให้ ในปี 2548-2550 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกองนิติการ กรมอุทยานฯ ยก ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า พ.ศ. ... ขึ้นเพื่อใช้แทน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ช่วงที่ นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและหัวหน้าอุทยานแห่งชาติฯ ทั่วประเทศ ได้รวมตัวคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อปี 2551 เพราะเห็นว่าเป็นการเอื้อให้เอกชนเข้ามาหาประโยชน์กับสมบัติของชาติ และเป็นการเปิดช่องทางให้ล่าสัตว์ป่าได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

แต่ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ พร้อมด้วย ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ... ถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่น เตรียมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาออกเป็นกฎหมายอีกครั้งอย่างเงียบเชียบ ทั้งที่ ทส.เพิ่งปรับแก้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ไปเมื่อต้นปี 2558  จึงเป็นที่มาของการจัดเวทีเสวนาวิชาการ “แก้ไขกฎหมายป่าไม้-สัตว์ป่าประโยชน์เพื่อใคร?” โดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ในวันนี้ ( 6 พ.ค. 2558)

นักวิชาการและนักอนุรักษ์ต่างมีข้อกังวลว่า ประเด็นหลัก ๆ ที่จะเป็นชนวนให้ทำลายทรัพยากรของชาติคือ  การเปิดพื้นที่ผ่อนปรนให้เอกชนใช้ประโยชน์ได้ การเปิดให้มีการล่าสัตว์ เพาะพันธุ์ ครอบครองและค้าสัตว์ป่าบางชนิดได้ จากกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันไม่อนุญาตให้ทำได้ ที่สำคัญคือเงื่อนไขการใช้ประโยชน์เหล่านั้น อยู่ในอำนาจหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

การให้ท่องเที่ยวเขตหวงห้ามได้หากมีเจ้าหน้าที่นำเที่ยว หรือการเปลี่ยนชื่อจากเขตศึกษาหาความรู้หรือนันทนาการ มาเป็นเขตศึกษาธรรมชาติโดยปล่อยให้เอกชนเข้ามาบริหาร นับว่าเป็นวิธีการดูแลป่าและสัตว์ป่าที่หละหลวม” ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุ

ขณะที่ นายอนรรฆ พัฒนวิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การเขียนร่าง พ.ร.บ.ฯ ทั้ง 2 ฉบับข้างต้น ไม่ได้มีศูนย์กลางที่การอนุรักษ์สัตว์ป่าหรือป่าไม้ หากแต่เอาความต้องการของมนุษย์เป็นสำคัญ ผู้ร่างกฎหมายไม่มีความเข้าใจระบบนิเวศป่าไม้ สัตว์ป่า และยังเข้าใจเอาเองว่าสัตว์ป่าเมืองไทยมีจำนวนมากหรือล้นป่า  ทั้งที่ในความเป็นจริงสถานการณ์ปัญหาสัตว์ป่าของไทยยังวิกฤติ และต้องการการดูแลที่เข้มงวดกว่าเดิม 

ร่างกฎหมายออกมาแบบนี้ ไม่ได้มองไปไกลเกิน 50 ปี  ป่าไม้ สัตว์ป่าทรัพยากรธรรมชาติของชาติล่มสลายแน่ เพราะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในการเปิดทางให้คนล่าสัตว์ป่าในเขตอุทยานโดยไม่มีความผิดมากขึ้น เพราะแค่หัวหน้าอุทยานฯ อนุญาต และมีอธิบดีกรมเซ็นกำกับ กฎหมายก็ไม่สามารถเอาผิดได้” อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ แจงเพิ่ม  

ส่วนนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า รับไม่ได้ที่ข้อกำหนดใน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ เสมือนรัฐเอาทรัพย์ของ 65 ล้านคน ไปให้เอกชนไม่กี่กลุ่มโกยผลประโยชน์ ยาวนานถึง 30 ปี และส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะมีกลุ่มทุนใดต้องการทำเพื่อสาธารณะอย่างแท้จริง เมื่อลงทุนแล้วก็ต้องหวังกำไรเต็มที่ อีกทั้ง ยังเป็นการผูกขาดให้กลุ่มทุน ซึ่งมีอยู่ไม่กี่กลุ่มที่มีเม็ดเงินมากพอที่จะเข้ามาบริหารอุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศ 

ขณะที่นายนิติพงษ์ แสนจันทร์ ตัวแทนกองนิติการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ อยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยทางกรมอุทยานฯ เตรียมเปิดเวทีใหญ่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องในร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งจะจัดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนแก้ไขแล้วส่งกลับ ทส. เพื่อเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ทันปิดปีงบประมาณ หรือในเดือนกันยายนนี้

นายนิติพงษ์ระบุข้อดีของร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับว่า สามารถฟ้องศาลแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากผู้บุกรุกพื้นป่าและค้าสัตว์ป่าได้ โดยข้อกฎหมายปัจจุบันไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ ยังมอบอำนาจให้หัวหน้าอุทยานหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสามารถบริหารจัดการได้มากขึ้น เช่น การบริหารจัดการในเขตผ่อนปรนหรือเขตพื้นที่บริการที่มีอยู่แล้วในความเป็นจริง เพียงแต่ยังไม่มีกฎหมายเข้าไปจัดการให้ถูกระเบียบ

อย่างไรก็ดี นักวิชาการในวงเสวนาได้ตั้งข้อสังเกตว่า เบื้องหลังที่ต้องเร่งเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ หรือแม้แต่ ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ  เข้าสู่กระบวนการพิจารณาออกเป็นกฎหมายหมาย เนื่องจากขั้นตอนการผ่านข้อกฎหมายของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้นทำได้ง่ายและใช้เวลาน้อยกว่า เหตุเพราะเมื่อร่างกฎหมายผ่าน ครม. และกฤษฎีกาแล้ว สามารถส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แค่ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาเพียงชุดเดียวในการพิจารณาก็สามารถโหวตให้ผ่านได้ ต่างกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ต้องผ่านการตรวจสอบจาก กมธ.นับ 10 ชุด ทั้งจากสภาสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง