หนาวนี้ ชมฝนดาวตก "ลีโอนิดส์และเจมินิดส์" ตกหนาแน่นสุด ส่งท้ายสิ้นปี 2555

Logo Thai PBS
หนาวนี้ ชมฝนดาวตก "ลีโอนิดส์และเจมินิดส์" ตกหนาแน่นสุด ส่งท้ายสิ้นปี 2555

สดร.จัด“เปิดฟ้า...ตามหาดาว” สัญจร นอนนับดาว ที่ยอดดอยอินทนนท์

 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนคนไทยชมฝนดาวตกส่งท้ายปี 2555 ทั้ง ฝนดาวตกลีโอนิดส์ 17-18 พฤศจิกายน และ ฝนดาวตกเจมินิดส์ 13-14 ธันวาคมนี้

โดยนายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ช่วงปลายปีจะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกที่น่าติดตาม 2 ครั้ง ได้แก่ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ซึ่งจะเกิดขึ้นมากที่สุดในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2555 สามารถสังเกตได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 17 พฤศจิกายน ต่อเนื่องไปจนถึงเช้ามืดของวันที่ 18 พฤศจิกายน ช่วงเวลาที่คาดการณ์ว่าสามารถเห็นฝนดาวตกลีโอนิดส์มากที่สุด คือเวลา เที่ยงคืนถึง 05:00 น. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณใกล้กับกลุ่มดาวสิงโตซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกลีโอนิดส์

ในปีนี้นับเป็นโอกาสดีที่จะได้ชมฝนดาวตกลีโอนิดส์กันอย่างจุใจ เนื่องจากเป็นช่วงดวงจันทร์ข้างขึ้น 4 ค่ำ หลังเที่ยงคืนเมื่อดวงจันทร์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ท้องฟ้าจะมืดสนิท เหมาะในการชมฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะเห็นดาวตกมากถึง 15 ดวงต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ ฝนดาวตกลีโอนิดส์เกิดจากสายธารเศษฝุ่นของดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวหาง ตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวหางเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศของโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า ทิศทางวงโคจรของฝนดาวตกลีโอนิดส์สวนทางกับทิศทางวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ความเร็วของเม็ดฝุ่นที่เข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศโลกมีความเร็วค่อนข้างมาก โดยมีความเร็วสูงถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด จึงได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งฝนดาวตก”

สำหรับข้อแนะนำการชมฝนดาวตกนั้น ควรเป็นสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน จะสังเกตเห็นดาวตกมีความสว่างมาก ทั้งนี้ วิธีการชมฝนดาวตกให้สบายที่สุด ให้นอนรอชมเนื่องจากช่วงที่เกิดฝนดาวตกจุดศูนย์กลางจะอยู่เหนือท้องฟ้ากลางศรีษะพอดี ส่วนการบันทึกภาพฝนดาวตกนั้น ไม่อาจบอกได้แน่ชัดว่าควรตั้งกล้องทางทิศไหน ต้องอาศัยการเดาหรือเปิดหน้ากล้องเพื่อรอให้ดาวตกวิ่งผ่านหน้ากล้อง เนื่องจากฝนดาวตกลีโอนิดส์มีอัตราเร็วสูงมาก และกระจายทั่วท้องฟ้า

นอกจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่จะได้ชมกันในเดือนพฤศจิกายนแล้ว ในเดือนธันวาคมยังมีฝนดาวตกเจมินิดส์หรือฝนดาวตกคนคู่ที่จะเกิดขึ้นมากที่สุดในวันที่ 13-14 ธันวาคม ปีนี้นับเป็นโอกาสดีที่จะได้ชมความสวยงามของฝนดาวตกเจมินิดส์ เนื่องจากเป็นช่วงคืนเดือนมืด ข้างแรม 15 ค่ำ ไม่มีแสงจากดวงจันทร์มารบกวน นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจะสามารถสังเกตเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์ได้มากกว่า 120 ดวงต่อชั่วโมง สังเกตได้ง่ายกว่าฝนดาวตก ลีโอนิดส์ เนื่องจากมีความเร็วของดาวตกไม่มากนัก ประมาณ 35 กิโลเมตรต่อวินาที มีเวลาพอที่จะชี้ชวนกันดูฝนดาวตกได้

ดร.ศรัณย์ กล่าวถึงการจัดกิจกรรมบริการวิชาการด้านดาราศาสตร์แก่ประชาชนว่า “สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) จัดกิจกรรมชวนคนไทยร่วมสังเกตการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ และฝนดาวตกเจมินิดส์ ชื่อกิจกรรม “เปิดฟ้า..ตามหาดาว” บริเวณยอดดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะในการชมฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นดอยสูง ปราศจากแสงเมืองรบกวน นอกจากนี้ยังจะมีการตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อสังเกตวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ พร้อมบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการดูดาว กิจกรรมทางดาราศาสตร์ และนำเยี่ยมชมหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ที่กำลังจะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2556 นี้ด้วย

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.narit.or.th หรือ Facebook/สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โทรศัพท์สมัครเข้าร่วมกิจกรรม สอบถามโทร. 053-225569 ต่อ 305

กิจกรรม “เปิดฟ้า...ตามหาดาว” เป็นกิจกรรมบริการวิชาการแก่ประชาชนในการให้ความรู้เบื้องต้นทางดาราศาสตร์ แนะนำวิธีการดูดาว สอนการใช้แผนที่ดาว และฝึกสังเกตวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ชนิดต่าง ๆ กำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว ทัศนวิสัยของท้องฟ้าเหมาะแก่การดูดาว ไม่มีเมฆมาบดบัง สำหรับกิจกรรมเปิดฟ้าตามหาดาวในปีนี้กำหนดจัดขึ้น 6 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 วันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2555(ฝนดาวตกลีโอนิดส์) ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เชียงใหม่
ครั้งที่ 2 วันที่ 13-14 ธันวาคม 2555 (ฝนดาวตกเจมินิดส์) ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เชียงใหม่
ครั้งที่ 3 วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม 2556 ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เชียงใหม่
ครั้งที่ 4 วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ณ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ครั้งที่ 5 วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 ณ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ครั้งที่ 6 วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2556 ณ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ประชาชนที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมตามกำหนดการดังกล่าวได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.narit.or.th หรือ Facebook สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Twitter:@N_Earth

ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์
โทร. 053-225569 ต่อ 210 หรือ 081-8854353
E-Mail: pr@narit.or.th / www.narit.or.th
Facebook: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
Twiiter: @N_Earth

ปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids meteor shower)

ปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids meteor shower) หรือฝนตกกลุ่มดาวสิงโต จะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยปีนี้สามารถสังเกตได้ดีที่สุดในคืนวันที่ 17 ถึงเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายน เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว โลกของเราได้เคลื่อนที่เข้าไปตัดกับสายธารของฝุ่นดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ที่ทิ้งไว้ขณะโคจรรอบดวงอาทิตย์
สำหรับช่วงเวลาที่ประเทศไทยจะมีโอกาสสังเกตเห็นฝนดาวตก เริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 17 จนถึงเช้าของวันที่ 18 พฤศจิกายน โดยการสังเกตการณ์ให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และในเวลาตั้งแต่ เที่ยงคืนถึง 05.00 น. จะเป็นช่วงเวลาที่เกิดฝนดาวตกมากที่สุด ซึ่งครั้งนี้มีอัตราการตกประมาณ 15 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกลีโอนิดส์เกิดจากการที่ดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ซึ่งมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีโดยมีทิศการโคจรสวนทางกับทิศการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก ดังนั้นเมื่อโลกโคจรตัดผ่านสายธารฝุ่นที่เป็นเศษซากของดาวหางดวงนี้จะทำให้เกิดฝนดาวตกที่มีความเร็วค่อนข้างมาก โดยมีความเร็วมากถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที
ในการชมปรากฏการณ์สามารถสังเกตดาวตกได้จากทุกทิศทุกทางที่มาจากศูนย์กลางการกระจายบริเวณกลุ่มดาวสิงโต ซึ่งดาวตกดวงไหนมีขนาดใหญ่ มีแสงสว่างและหางยาวมาก จะเรียกว่า ไฟร์บอล (Fireball) โดยไฟร์บอลจะทำให้เห็นรอยดาวตกทิ้งไว้เป็นทางด้วย ดังนั้นควรหาสถานที่ที่มีท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากแสงไฟรบกวน โดยปรากฏการณ์ฝนดาวตกนี้จะเกิดขึ้นทั่วท้องฟ้า อุปกรณ์ที่แนะนำสำหรับการสังเกตการณ์ได้แก่ เก้าอี้พับหรือเสื่อสำหรับนอนดู กระดาษและปากกาสำหรับจดบันทึกจำนวนของฝนดาวตก กล้องถ่ายรูปสำหรับบันทึกภาพปรากฏการณ์ รวมถึงชา กาแฟ ขนมขบเคี้ยว กินเล่นระหว่างการชมปรากฏการณ์

ล่าสุดที่เกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่มีไฟร์บอลจำนวนมาก คือปี พ.ศ. 2541 และในครั้งต่อไปคาดการณ์ว่าจะเกิดในอีก 19 ข้างหน้า นั่นคือปี พ.ศ. 2574 ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีอีกครั้งสำหรับผู้ที่ชื่นชอบฝนดาวตก เพราะดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าตั้งแต่หัวค่ำ ทำให้ไม่มีแสงดวงจันทร์รบกวนการสังเกตการณ์

ข้อมูลอ้างอิง
IMO Meteor Shower Calendar 2012, http://www.imo.net/calendar/2012#leo; เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2555


ข่าวที่เกี่ยวข้อง