157 ส.ส.ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ววันนี้

การเมือง
9 พ.ย. 55
13:49
77
Logo Thai PBS
157 ส.ส.ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ววันนี้

ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน รวม 157 คน ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุแนบท้ายญัตติชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามเงื่อนไขของบทบัญญัติมาตรา 158 และ 159 ตามรัฐธรรมนูญ

ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และพรรครักประเทศไทย รวม 157 คนก็ลงชื่อร่วมเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแบบลงตัวแล้ว เมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ (9 พ.ย.) แม้จะล่าช้าไปบ้าง โดยแน่ชัดว่า รัฐมนตรีที่จะถูกอภิปราย มีด้วยกัน 3 คน คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และพล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมว.มหาดไทยมหาดไทย หรือในฐานะ รมช.คมนาคม ซึ่งถูกกล่าวหาไม่แตกต่างกัน คือ บริหารราชการบกพร่อง, ผิดพลาด, ขาดความรู้, ลุแก่อำนาจ และมีพฤติกรรมทุจริต กระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ผู้นำรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะถูกอภิปรายด้วยข้อกล่าวหา" บริหาราชการบกพร่อง, ปล่อยให้เกิดการทุจริต, เลี่ยงความรับผิดชอบ, เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง และไม่ยอมรับต่อระบบรัฐสภา รวมถึงมีพฤติกรรมส่อทุจริตฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และด้วยเงื่อนไขตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 และ 159 ประธานวิปฝ่ายค้านระบุว่า ได้แนบท้ายญัตติเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

หลังจากการนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนบรรจุวาระ และคาดว่าสัปดาห์หน้ากรอบเวลาอภิปรายจะชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดสรรเวลาระหว่างรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปราย และผู้แสดงเจตจำนงค์ในการอภิปราย โดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ย้ำที่จะทำหน้าด้วยความเป็นกลางและยึดหลักข้อบังคับการประชุมอย่างเคร่งครัด

เป็นที่น่าสังเกตถึงการยื่นญัตติครั้งนี้ ที่ไม่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ซึ่งมีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะถูกอภิปรายกรณีรับจำนำข้าว ไม่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัย (กบอ.) ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะถูกอภิปรายกรณีทุจริตงบน้ำท่วม แต่ฝ่ายค้านอ้างว่าไม่มีหลักฐานที่บ่งชัดถึงความผิด สำหรับการอภิปรายครั้งนี้ ฝ่ายค้านระบุว่าผู้อภิปรายในแต่ละประเด็นจะยึดโยงตามบทบาทหน้าที่ใน ครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์ และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน แต่ต้องไม่เกินกว่า 20 คน เพราะต้องการเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง