กฟผ.วอนสังคมร่วมหาทางออกชนิด "เชื้อเพลิง" วางแผนพลังงานไฟฟ้าประเทศ

เศรษฐกิจ
12 พ.ย. 55
13:07
75
Logo Thai PBS
กฟผ.วอนสังคมร่วมหาทางออกชนิด "เชื้อเพลิง" วางแผนพลังงานไฟฟ้าประเทศ

กฟผ.ยืนยันปัญหาวาล์วท่อก๊าซธรรมชาติขัดข้องที่ จ.กาญจนบุรี วานนี้ แก้ไขเรียบร้อยแล้ว โดยสั่งเดินเครื่องน้ำมันเตาจากโรงไฟฟ้าราชบุรีทดแทน ขณะเดียวกันวอนสังคมหาทางออกร่วมกันว่าจะใช้เชื้อเพลิงชนิดใดในอนาคต หากก๊าซในอ่าวไทยหมดลง

วันนี้ ( 12 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีวาล์วท่อก๊าซธรรมชาติที่บ้านอีต่อง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่รับก๊าซธรรมชาติมาจากประเทศพม่าเกิดปัญหาต้องปิดซ่อมบำรุงกะทันหัน เมื่อวันวานนี้ (11 พ.ย.) ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถรับก๊าซธรรมชาติจากพม่าในอัตรา 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้และส่งผลให้โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ จากฝั่งตะวันตก ต้องหยุดเดินเครื่องชั่วคราวนั้น

ล่าสุดนายพงษ์ดิษฐ พจนา รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เผยว่า กฟผ.ได้แก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชน และ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมด้วยการสั่งเดินเครื่องน้ำมันเตา จากโรงไฟฟ้าราชบุรีทดแทน จึงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าของประเทศ จนกระทั่งท่อก๊าซกลับมาเริ่มส่งก๊าซธรรมชาติได้ตามปกติ โดยท่อก๊าซเริ่มกลับมาใช้ได้ตามปกติเมื่อเวลา 11.00 น.และ ส่งจ่ายเข้าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติทั้งหมดได้เมื่อบ่ายวันวานนี้ (11 พ.ย.)

รองผู้ว่าการกิจการสังคมฯ กฟผ. กล่าวว่า ใน 2-3 ปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถจัดส่งก๊าซธรรมชาติสู่ระบบไฟฟ้าหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าการพึ่งพิงเชื้อเพลิงหนึ่งใดมากไปอาจทำให้เกิดความไม่มั่นคงในระบบไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าถึง 70% แม้ว่าที่ผ่านมา กฟผ. จะแก้ไขสถานการณ์ โดยนำน้ำมันเตาเดินเครื่องทดแทนทำให้ไม่ส่งผลกระทบการขาดแคลนไฟฟ้า เนื่องจากระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์ไม่นานนัก แต่น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพง

"ภายใน 15 ปี ข้างหน้า ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งเป็นปริมาณส่วนใหญ่ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศจะหมดลง การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าแทน จะทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงสูงขึ้น 2 เท่า" รองผู้ว่าการกิจการสังคมฯ กฟผ. กล่าวยืนยัน

นายพงษ์ดิษฐ กล่าวอีกว่า ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าในอนาคต ทางเลือกที่เหมาะสมของประเทศไทยในเวลานี้ คือการพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ในประเทศ โดยแสวงหาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นทดแทนก๊าซธรรมชาติ และ ควรเป็นเชื้อเพลิงที่มีความเสถียรต่อระบบไฟฟ้าและทำให้มีราคาค่าไฟถูก จึงต้องการให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและร่วมกันเร่งหาทางออกให้กับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศ เนื่องจากกระบวนการพัฒนาโรงไฟฟ้าในปัจจุบันต้องใช้เวลา 5-6 ปี

ภาพจาก : http://www.yutcareyou.com


ข่าวที่เกี่ยวข้อง