ความหลากหลาย - อิสระในนิทรรศการจากแม่น้ำฮันสู่เจ้าพระยา

Logo Thai PBS
ความหลากหลาย - อิสระในนิทรรศการจากแม่น้ำฮันสู่เจ้าพระยา

เมื่อไม่กำหนดหัวข้อในการสร้างสรรค์งานศิลปะ เราจึงได้เห็นผลงานที่หลากหลาย และเป็นอิสระในนิทรรศการจากแม่น้ำฮันสู่เจ้าพระยา ซึ่งผู้ชมยังมีโอกาสได้เห็นจุดต่าง และจุดร่วมทางวัฒนธรรมไทย และเกาหลีผ่านศิลปะหลากหลายแขนง

หินอ่อนสีขาวที่แกะสลักจนโค้งมนเป็นรูปวาทยากร ผลงานของ ลีคงเจ ที่ตั้งชื่อว่า where happiness lies สื่อถึงความสุขของศิลปินในยามที่ได้สร้างงานที่รัก โดดเด่นด้วยรูปแบบที่เรียบง่าย ต่างจากผลงานศิลปะของศิลปินไทยที่เห็นได้ชัดในเรื่องของอารมณ์ ถ่ายทอดออกมาในเชิงสัญลัญษณ์ที่ดูซับซ้อนกว่า รัฐภูมิ ผิวพันธมิตร เล่าเรื่องความลุ่มหลงของมนุษย์ ทำให้คนเป็นเพียงวัตถุที่มีหัวใจ ผ่านภาพวาดสีโทนร้อน หัวคนขนาดใหญ่ตะแคงบนพื้น ผลงานศิลปะส่วนหนึ่งจัดแสดงในนิทรรศการจากแม่น้ำฮันสู่เจ้าพระยา คัดเลือกผลงานของศิลปินชื่อดังทั้งไทย และเกาหลี รวม 27 คน มาจัดแสดงให้เห็นวัฒนธรรมแตกต่างผ่านงานศิลป์

รัฐภูมิ ผิวพันธมิตร ศิลปิน กล่าวว่า เป็นความเชื่อของมนุษย์ที่เชื่อว่าความสุขเกิดจากการได้มีได้เสพได้ครอบครอบ ทั้งอำนาจ วัตถุแล้วก็กิเลส บุญบารมี ทุกอย่างที่เราคิดวาเรามีแล้วเราจะมีความสุข ซึ่งทำให้เราไขว้คว้าทะยานอยากจนเกินความพอดี วึ่งผมมองว่าสังคมทุกวันนี้คนส่วนมากกำลังหลงกับสิ่งเหล่านี้อยู่ ทำให้เราสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป เรามุ่งเน้นจุดนี้จนลืมสภาวะทางด้านจิตใจไปครับ

เส้นสายที่เคลื่อนไหวคล้ายเกลียวคลื่นและเปลวไฟ ถ่ายทอดปรากฏการณ์ธรรมชาติในความทรงจำ ออกมาเป็นเทคนิคการสลัดและเทสีตามความรู้สึก ผลงานของ รศ.จิระพัฒน์ พิตรปรีชา ศิลปินไทยที่ได้รับเชิญไปแสดงผลงานที่โคเรียอินเตอร์เนชันแนลอาร์ทเฟสติวอลมาแล้วถึง 5 ครั้ง นิทรรศการครั้งนี้ยังจัดแสดงภาพของศิลปินแห่งชาติ และศิลปินชั้นนำของไทยอย่าง ประเทือง เอมเจริญ และอิทธิ คงคากุล

รศ.จิระพัฒน์ พิตรปรีชา ประธานดำเนินการนิทรรศการ กล่าวว่า ทางนู้นเค้าได้เห็นว่าบ้านเรา ศิลปินไทยเนี่ยก็มีความสามารถในการเพ้นยังไง สร้างสรรค์ประติมากรรยังไง หรือว่ามีความร่วมสมัยกับศิลปินของเค้าอย่างไรบ้าง เราก็ได้เห็นว่าการพัฒนาของศิลปินเกาหลี จากบางชิ้นที่ทิ้งร่องรอยของลักษณะประเพณีนิยมของเค้ามาเป็นสู่ความเป็นสมัยใหม่

นี่เป็นผลงานของศิลปินเกาหลีนะคะ ผู้มีสามีเป็นคนไทยค่ะ เธอใช้ภาพของลูกสาวของเธอ ซึ่งเป็นลูกครึ่งไทยเกาหลี เป็นตัวแทนของตัวเธอเอง ผู้มีความผูกพันกับประเทศไทยเหมือนกับอยู่ในสายเลือด รวมทั้งยังใช้เทคนิคปะติดผ้าลายผ้าถุงไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทยที่เธอหลงไหลผูกพัน

รูปแบบงานศิลปะที่แปลกใหม่ เพราะได้แลกเปลี่ยนทั้งแนวคิด และทักษะด้านงานศิลปะ จนนำมาซึ่งการเรียนรู้ เป็นที่มาของนิทรรศการจากแม่น้ำฮันสู่เจ้าพระยาครั้งที่ 2 ที่ต้องการให้ภาพของศิลปิน 2 ประเทศแสดงอัตลักษณ์เฉพาะตัว โดยใช้ชื่อของแม่น้ำทั้ง 2 สายเป็นชื่อนิทรรศการ สื่อถึงศิลปะ และวัฒนธรรมอันดีที่สะสมผ่านการเวลา ทั้งยังบอกเล่าเรื่องการเดินทางของศิลปินจากประเทศเกาหลี จนมาถึงประเทศไทย นิทรรศการจากแม่น้ำฮันสู่เจ้าพระยา ครั้งที่ 2 จัดแสดงถึงวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ที่หอศิลป์จามจุรี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง