นักวิชาการชี้ศึกซักฟอก "ฝ่ายค้าน" ต้องเน้นข้อมูลมากกว่า "วาทกรรมการเมือง"

18 พ.ย. 55
14:25
77
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้ศึกซักฟอก "ฝ่ายค้าน" ต้องเน้นข้อมูลมากกว่า "วาทกรรมการเมือง"

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลวันที่ 25-28 พ.ย.นี้ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ แสดงความเห็นว่า การอภิปรายจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ฝ่ายค้านควรยึดข้อมูลข้อเท็จจริงแม้จะไม่เกิดผลให้เปลี่ยนแปลงการเมือง แต่สาระสำคัญของการตรวจสอบอาจสร้างแนวร่วมจากประชาชน ขณะที่องค์กรภาคเอกชนและองค์กรอิสระ รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังวิเคราะห์แล้วว่า ญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 3 คนของฝ่ายค้าน เน้นเทคนิคและวิธีการทางการเมืองมากกว่าเนื้อหาข้อมูล

 

<"">
 
<"">

สาระสำคัญของญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคลจำนวน 3 คน ที่กล่าวหา กระทำผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและทุจริตในหน้าที่ โดยชี้ว่า นายกรัฐมนตรีขาดวุฒิสภาวะไม่คำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรม บริหารราชการบกพร่อง ล้มเหลว ผิดพลาด และ มีพฤติกรรมลอยตัวเลี่ยงความรับผิดชอบ พร้อมอ้างอิงว่า รัฐมนตรีบางคนมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่มุ่งสนองผลประโยชน์ผู้มีบุญคุณทางการเมืองมากกว่าประโยชน์ของส่วนรวม

รศ.ยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ญัตติของฝ่ายค้าน ทั้งจากข้อกล่าวหาและตัวบุคคลที่จะถูกอภิปรายแล้วเชื่อว่า ฝ่ายค้านกำลังใช้ยุทธศาสตร์ด้านเทคนิคและวิธีการทางการเมืองมากกว่าเนื้อหาที่เน้นข้อมูลข้อเท็จจริง โดยชี้ว่า การเจาะจงอภิปรายนายกรัฐมนตรีในฐานะน้องสาว และ รัฐมนตรีที่ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คือ เป้าหมายที่ฝ่ายค้านมุ่งไปที่จุดอ่อนของรัฐบาล

แต่ รศ.ยุทธพร ชี้ว่า หากฝ่ายค้านมุ่งเน้นเล่นเกมการเมืองและใช้วิธีการผลิตซ้ำ โดยเฉพาะวาทะกรรมทางการเมืองอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในบทบาทหน้าที่ แต่ถ้าเน้นข้อมูลข้อเท็จจริงที่จะชี้ให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความไม่น่าไว้วางใจรัฐบาล แม้ผลสรุปจะไม่ถึงระดับเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ย่อมสร้างแนวร่วมในการตรวจสอบได้

ในขณะเดียวกัน รศ.ยุทธพร อิสรชัย บอกว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบด้วยการชี้แจง โดยเฉพาะบุคคลตามญัตติของฝ่ายค้านควรชี้แจงข้อกล่าวหาด้วยตัวเองไม่เช่นนั้นผลลบจะเกิดขึ้นกับรัฐบาลเช่นกัน

และนับจากนี้ไปจนถึงวันอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น อาจสรุปได้ว่า รัฐบาลกำลังเผชิญกับศึกทั้งนอกและในสภา แม้จะไม่ถึงขั้นวิกฤตให้ต้องอาศัยอำนาจนอกระบบ แต่สนามรบทางการเมืองครั้งนี้ ถือว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดนเขย่าเสถียรภาพครั้งสำคัญทีเดียว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง