ไทยและบทบาทถ่วงดุลอำนาจของมหาประเทศฝั่งตะวันออกและตะวันตก

การเมือง
20 พ.ย. 55
13:48
922
Logo Thai PBS
ไทยและบทบาทถ่วงดุลอำนาจของมหาประเทศฝั่งตะวันออกและตะวันตก

นายกรัฐมนตรีของสาธารณประชาชนจีน เดินทางเยือนประเทศไทย ก่อนที่จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในปีหน้า(2556) ซึ่งนับตั้งแต่ที่ทั้ง 2 ประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2518 ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจก็พัฒนาอย่างก้าวหน้าและราบรื่น แต่การเยือนของผู้นำอันดับ 2 ของจีน ในเวลาไล่เลี่ยกันกับ การเดินทางมาเยือนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้มีการมองว่า นี่การแสดงบทบาทถ่วงดุลอำนาจของมหาประเทศฝั่งตะวันออกและตะวันตกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ชะลอตัวจากผลพวงวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป สวนทาง เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ที่มีแต่ทิศทางขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการเปิดประเทศของพม่า และกัมพูชา ยิ่งทำให้ภูมิภาคนี้ เนื้อหอมมากขึ้น โดยภายหลังนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ก็เดินทางออกต่างประเทศ และมุ่งหาเอเชียทันที

<"">
<"">

 

นายโอบาม่า กล่าวว่า สหรัฐฯ ต้องการขยายช่องทางการค้า การทำธุรกิจกับอาเซียนมากขึ้น รวมทั้ง กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทย ผ่านความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้น เอเชีย-แปซิฟิก หรือ ทีพีพี ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก่อนประกาศเจตนารมณ์พร้อมเข้าร่วมเจรจา

คล้อยหลังนายโอบาม่าไปเพียง 1 วัน รัฐบาล ก็เปิดตึกไทยคู่ฟ้าต้อนรับนาย เวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีของจีน ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งในเดือนมีนาคม ปีหน้า

ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การเดินทางมาเยือนของผู้นำสหรัฐฯ และจีน ในเวลาไล่เลี่ยกัน ตอกย้ำถึง ความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน และไทยควรเร่งขยายการค้าการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้ง ลดปัจจัยเสี่ยง ที่อาจกระทบความเชื่อมั่น เพื่อครองความได้เปรียบจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ในระยะยาว

<"">
<"">

 

"ถ้าหากเราพลาดรถไฟขบวนนี้ มันจะส่งผลกับประเทศไทยระยะยาวพอสมควร ทำให้โอกาสในการเลือกอุตสาหกรรมดีๆผ่านไป แล้วก็ไม่ได้ผ่านไปไหน คือไปลงกับประเทศเพื่อนบ้านเรานั่นเอง หมายความว่า 5 ปีให้หลัง หลังจากที่เราทะเลาะกัน กลายเป็นว่า คู่แข่งไปไกลกว่าเรามาก" กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารกรุงเทพ

นายวรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้ไทยและจีน มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และไทยก็มีความได้เปรียบประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ในด้านที่ตั้ง และภูมิรัฐศาสตร์ แต่การเข้ามาของสหรัฐฯ ในห้วงเวลาเดียวกับการเยือนของผู้นำจีน ก็ทำให้ไทยตกอยู่ในภาวะอึดอัด เพราะ ทั้งมิตรประเทศทั้งสอง ต่างคาดหวังไทย จากบทบาทผู้ประสานงานประเทศสมาชิกอาเซียน

ขณะที่นักวิชาการจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มองว่า การมาเยือนของผู้นำจีนครั้งนี้ เป็นเรื่องผิดปกติ ซึ่งเชื่อว่า เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เพื่อตอกย้ำความเป็นมหามิตรประเทศกับไทย หากไทยวางตัวไม่ถูกต้อง อาจทำให้ประเทศเกิดความเสียหาย

<"">
<"">

 

"เรารู้อยู่แล้วว่าสหรัฐฯและจีนมีบทบาทด้านหนึ่งต่อเรา คือ การแข่งขันกันระหว่างประเทศ แต่ถ้าเราไปเสริมบทบาทนั้น ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ เวลานี้เอียงข้างนี้ เวลานี้เอียงอีกข้างหนึ่ง ถามว่ามันจะไม่มีเลยหรือที่เราจะพลาด ประวัติศาสตร์ก็สอนแล้วว่ามันมีโอกาส ฉะนั้น เราต้องทำให้สหรัฐฯเกรงใจ และจีนเกรงใจและเคารพเรา นั่นก็คือการวางท่าทีที่ทำในเชิงบวก ให้เห็นว่าท่ามกลางการแข่งขันของมหาอำนาจนี้ ประเทศไทยต้องการสันติภาพต่อภูมิภาค ไม่ใช่มาเจรจาขายข้าว ผมว่ามันเป็นหนังคนละม้วน เป็นเรื่องที่ไม่ถูก" กนก วงษ์ตระหง่าน กรรมการที่ปรึกษาศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน

นักวิชาการผู้นี้ กล่าวอีกว่า รัฐบาล ควรวางบทบาทสานผลประโยชน์ และสร้างการพัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และแปซิฟิก รวมไปถึง ประกาศเจตนารมณ์ต้องการเห็นสันติภาพบนข้อพิพาททะเลจีนใต้ เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง