บอร์ด สปสช. ผิดหวังหมอประดิษฐ์สั่งคลังไฟเขียวใช้"ยากลูโคซามีน"

สังคม
21 พ.ย. 55
12:02
156
Logo Thai PBS
บอร์ด สปสช. ผิดหวังหมอประดิษฐ์สั่งคลังไฟเขียวใช้"ยากลูโคซามีน"

 ตามที่ นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว. สาธารณสุข ประธานคณะกรรมการบริหารยาฯ สั่งให้กรมบัญชีกลางยกเลิกประกาศกระทรวงการคลังเรื่องห้ามเบิกยากลูโคซามีนแก้โรคข้อเข่าเสื่อมในสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการซึ่งมีมูลค่าปีละประมาณ 700 ล้านบาท ตามกระแสเรียกร้องของบริษัทยาและข้าราชการ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักวิชาการที่ชี้ว่ายาดังกล่าวไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้ว่ามีประโยชน์ในการรักษาโรคดังกล่าวจริง เพราะที่อเมริกาจัดเป็นเพียงอาหารเสริมประเภทหนึ่งเท่านั้น ต่อกรณีดังกล่าว

นส.บุญยืน ศิริธรรม กรรมการหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่ารู้สึกผิดหวังเพราะเพียงยกแรก รมว.สาธารณสุข ก็สั่งข้ามกระทรวงให้กรมบัญชีกลางถอยต่อแรงกดดันยอมให้ประเทศต้องสูญเสียเงินงบประมาณปีละกว่า 700 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เพิ่งประกาศนโยบายจะลดค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดผลต่อสุขภาพของสวัสดิการข้าราชการที่ใช้งบประมาณค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าผู้ป่วยบัตรทองหลายเท่าตัว

“การสั่งกระทรวงการคลังให้ถอยเรื่องยากลูโคซามีนของ รมว.สาธารณสุข อยากถามรัฐมนตรีที่เป็นหมอว่าเอาข้อมูลวิชาการจากไหนมาใช้ตัดสินใจ เป็นสัญญาณบอกชัดเจนว่านโยบายลดความเลื่อมล้ำและปฏิรูประบบประกันสุขภาพสามกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นเพียงราคาคุยให้ดูดีเท่านั้น ท้ายที่สุดการกระทำจริงก็เอื้อประโยชน์บริษัทยาต่างชาติ และตัดงบเหมาจ่ายของระบบบัตรทอง ทำให้เป็นระบบอนาถา ผลักผู้ป่วยไป รพ.เอกชนเท่านั้นเอง ” บอร์ด สปสช.ภาคประชาชนกล่าว

นพ. วิชัย โชควิวัฒน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงนโยบายของ รมว.สาธารณสุขที่ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่าจะยกเลิกกองทุนย่อยต่างๆ ของสปสช. ว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลองครั้งใหญ่ เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่สมัย นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการ สปสช. คนแรกได้วางรากฐานให้ผู้ป่วยที่มีปัญหามากในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล อาทิเช่น ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เอดส์ หัวใจ มะเร็ง โรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย ต้อกระจก โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เป็นต้น สามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างทั่วถึงโดยอาศัยการบริหารแบบโรคเฉพาะโดยมีกองทุนย่อยต่างๆ ของ สปสช.เป็นเครื่องมือสำคัญในการจ่ายค่าชดเชยและควบคุมราคาค่าบริการไม่ให้สูงจนเป็นภาระค่าใช้จ่ายของกองทุน สปสช.ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ที่เคยล้มละลายจากค่าใช้จ่ายสูงสามารถเข้าถึงการบริการดังกล่าวดีกว่าผู้ป่วยสิทธิอื่นๆ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง