ชี้ยิ่งลงพุงยิ่งเสี่ยง"โรคเรื้อรัง" รอบเอวเพิ่มทุก 5 ซม. เสี่ยง"เบาหวาน"เพิ่ม 5 เท่า

สังคม
22 พ.ย. 55
09:56
124
Logo Thai PBS
ชี้ยิ่งลงพุงยิ่งเสี่ยง"โรคเรื้อรัง" รอบเอวเพิ่มทุก 5 ซม. เสี่ยง"เบาหวาน"เพิ่ม 5 เท่า

5 ราชวิทยาลัยแพทย์ชั้นนำ จับมือ สสส. เครือข่ายคนไทยไร้พุง MOU ร่วมแก้ปัญหาคนไทยอ้วนลงพุง น้ำหนักเกิน เร่งสร้างกิจกรรมทางกาย เปลี่ยนพฤติกรรม พร้อมทำคู่มือ อบรมแพทย์ พยาบาล ให้ความรู้ประชาชน

 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมใหญ่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จัดพิธีบันทึกความเข้าใจร่วมกันเพื่อสร้างความร่วมมือในการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และอ้วนลงพุง

ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าว่า จากการสำรวจในปี 2552 พบว่าคนไทยวัยผู้ใหญ่มีปัญหาอ้วน ร้อยละ 34 และประชากรวัยเด็กอายุต่ำกว่า12 ปี และอายุ 12-14 ปี มีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วน ร้อยละ 12 และ 16 ตามลำดับ พบว่าประชากรกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุดอยู่ในวัยทำงาน และเป็นผู้หญิง ถึงร้อยละ 48 การร่วมงานกันครั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขและป้องกันปัญหาอ้วนและอ้วนลงพุง ให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มทุกวัย

รศ.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย, สภาการพยาบาล, ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และ สสส. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ 5 สถาบันทางการแพทย์ของประเทศมาช่วยกันจัดการปัญหาน้ำหนักเกิน อ้วน และอ้วนลงพุง ให้เป็นระบบ

รศ.วิลาสินี กล่าวว่า สถานการณ์ภาวะน้ำหนักเกินของคนไทยยังถือเป็นสถานการณ์ที่คุกคามสุขภาพ และนำมาซึ่งความสูญเสียมากมาย รวมถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากค่ารักษาพยาบาล โดยองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ภาวะโรคอ้วนจะนำมาสู่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 2-6 ของงบประมาณด้านสุขภาพ ด้วยเหตุนี้ สสส.มียุทธศาสตร์ส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน คือ 1.เพิ่มสัดส่วนผู้มีกิจกรรมทางกาย 2.เพิ่มพื้นที่สุขภาวะเอื้อต่อกิจกรรมทางกาย ให้คนไทยได้มีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม โดยการจัดการปัญหานี้ต้องจับมือกันหลายฝ่ายทั้งฝ่ายแพทย์ พยาบาลที่ใกล้ชิดผู้มารับบริการมากที่สุด ไปจนถึงฝ่ายครู พ่อแม่ และผู้นำทั้งระดับชาติและท้องถิ่นที่ต้องถือว่าการป้องกันโรคอ้วนเป็นวาระเร่งด่วน

“เป้าหมายความร่วมมือในครั้งนี้ จะเน้นการลดภาวะโภชนาการทุกกลุ่มวัยและเน้นเด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี โดยจะมีการจัดทำคู่มือสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และจัดworkshop สำหรับคลินิกฝากครรภ์ยุคใหม่ พัฒนารูปแบบการป้องกันโรคอ้วนในเด็กเล็กหลังคลอด 6 เดือน - 5 ปี ให้ความรู้ด้านโภชนาการต่อเนื่อง สร้างระบบการคัดกรองเด็กที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และภาวะทุพโภชนา ทำคลินิกฝากครรภ์ผสมผสาน และคลินิกเด็กสุขภาพดี ทั่วประเทศ โดยมีความร่วมมือกับเครือข่ายโรงพยาบาล 32 แห่งทั่วประเทศเพื่อให้คำปรึกษากับผู้ที่มีปัญหาภาวะน้ำหนักเกิน”รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว

ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะมีการทำงานอย่างบูรณาการในหลายสาขาวิชา ทั้งด้านการแพทย์บวกกับเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ เครือข่ายอาหาร เครือข่ายสื่อเพื่อเด็กและการรู้เท่าทันสื่อ รวมทั้งเครือข่ายผังเมือง เพื่อนำไปสู่การรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์องค์ความรู้ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการปัญหา การปรับหลักสูตรการเรียนการสอนแพทย์และพยาบาล ให้มีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะ น้ำหนักเกิน โรคอ้วน และอ้วนลงพุง การจัดอบรมแพทย์และพยาบาลที่ปฏิบัติงานอยู่ให้มีความรู้และทักษะในการจัดการปัญหาตามวัยและสภาวะ การจัดทำคู่มือและแนวปฏิบัติในการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และอ้วนลงพุง และการรณรงค์

“คนอ้วนส่วนมากมักจะมีไขมันสะสมบริเวณช่องท้อง หรือลงพุง และยิ่งพุงใหญ่จะเท่ากับมีไขมันสะสมมาก และไขมันนี้จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ มีผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี เกิดเป็นโรคอ้วนลงพุง ต้นเหตุการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง โดยพบว่า รอบเอวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 เซนติเมตร จะเพิ่มโอกาสเกิดเป็นโรคเบาหวาน 3-5 เท่า ดังนั้น ยิ่งพุงใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น”ศ.พญ.วรรณี กล่าว

โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย “เครือข่ายคนไทยไร้พุง” ได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2549 เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาและผลตามมาของโรคอ้วนและอ้วนลงพุง ตลอดจนจัดกิจกรรมต่างๆ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการควบคุมไม่ให้เกิดโรคอ้วนและอ้วนลงพุง โดยอิงหลักวิชาการที่ถูกต้องและทันสมัย เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งด้านโภชนาการ และการออกกำลังกายอย่างถูกต้องเหมาะสม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง