แอนิเมชันเพื่อผู้พิการทางสายตา

Logo Thai PBS
แอนิเมชันเพื่อผู้พิการทางสายตา

เพราะมองไม่เห็นจึงทำให้ผู้พิการทางสายตาแทบไม่เคยรับรู้ถึงความสนุกจาก การ์ตูน หรือ ภาพยนตร์ แต่วันนี้ข้อจำกัดดังกล่าวจะไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป เมื่อมีการทดลองสร้าง Audio Description หรือบทบรรยายด้วยเสียงพูดภาษาไทย ช่วยเปิดพื้นที่เรียนรู้ให้คนอีกกลุ่มเข้า ถึงข้อมูลและจินตนาการไปกับเสียงที่ได้ยิน

การพากย์เสียงในทุกอิริยาบถ เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสัมผัสได้ถึงความสนุกของ ตัวการ์ตูนคู่หูคู่กัดแมวหนู ในทอม แอนด์เจอรี่ การ์ตูนยอดนิยมที่นำมาสร้างเป็นหนังทดลองรับรู้ได้โดยการฟัง ความสนุกและเสียงหัวเราะเกิดขึ้น เมื่อได้จินตนาการตามไปกับเรื่องราวที่ถ่ายทอด กว่า 5 เดือนที่ "ธีร์ธวัช เจนวัชรรักษ์" ศึกษาเรื่อง “การสร้าง Audio Description หรือบทบรรยายด้วยเสียงพูดเป็นภาษาไทยในภาพยนตร์การ์ตูน" เป็นครั้งแรก พบว่าสิ่งจำเป็นในการสื่อสารภาพด้วยเสียงนั้น คือการวิเคราะห์สาร เลือกส่วนที่ต้องการสื่อสาร และใช้ถ้อยคำที่กระชับ เข้าใจง่าย ก่อนจะถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครผ่านบทพากย์ให้ยิ่งสมบูรณ์

"เราต้องมานั่งดูวินาทีต่อวินาที ว่าเหตุการณ์นี้วินาทีไหนถึงวินาทีไหน กี่วินาที มีเสียงอะไรเกิดขึ้นบ้าง ภาพเหตุการณ์คืออะไร ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจบตอน อุปสรรคจริงๆ เป็นเรื่องคำ เพราะว่าเราต้องรู้ว่าเด็กที่เขาจะดู คนตาบอดเนี่ย โลกเขาไม่กว้างเท่าเรา คำบางคำกับวัสดุบางอย่างเขาไม่รู้จัก เพราะฉะนั้นต้องใช้คำที่เลี่ยงไป เพื่อให้เกิดความหมายที่ใกล้เคียงแล้วก็ เป็นอะไรที่เขาจินตนาการได้" ธีร์ธวัชกล่าว

Audio Description เริ่มเมื่อปี 2552 โดยสภาคนตาบอดแห่งอเมริกา เพื่อส่งเสริมการอธิบายภาพด้วยเสียง และเผยแพร่ข้อมูลเรื่องนี้ไปทั่วโลก โรงภาพยนตร์ในหลายประเทศเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสายตา ได้เข้าร่วมชมภาพยนตร์พร้อมกับผู้ชมสายตาปกติ โดยมีการบรรยายภาพด้วยเสียงผ่านหูฟัง ซึ่งผู้พิการทางสายตาในประเทศไทย ยังขาดโอกาสในการรับชมสื่อภาพอย่างมีอรรถรส

การสร้างสรรค์สื่อบันเทิงเฉพาะกิจเพื่อผู้พิการทางการมองเห็นโดยการใช้เสียง สื่อสารภาพ นอกจากจะได้ข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนา Audio Description ในประเทศไทยแล้ว ยังช่วยเปิดพื้นที่เรียนรู้ให้คนอีกกลุ่มเข้าถึงข้อมูลและจินตนาการด้วยความ สนุกไปกับเสียงที่ได้ยิน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง