มติครูนราธิวาสปิดเรียน 2 วัน เรียกร้องย้ายครูไทยพุทธออกจากพื้นที่เสี่ยง

ภูมิภาค
6 ธ.ค. 55
01:05
75
Logo Thai PBS
มติครูนราธิวาสปิดเรียน 2 วัน เรียกร้องย้ายครูไทยพุทธออกจากพื้นที่เสี่ยง

องค์กรระดับสากล เรียกร้องให้สมาชิกส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย ให้หามาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับครูและนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ หลังเกิดเหตุลอบยิงครูหลายเหตุการณ์ในระยะนี้ ขณะที่สมาพันธ์ครูจังหวัดนราธิวาส มีมติสั่งปิดโรงเรียน 2 วัน พร้อมยื่นข้อเรียกร้องให้ย้ายครูไทยพุทธ ออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งหมด

นายสงวน อินทรักษ์ ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดนราธิวาส เรียกคณะกรรมการสมาพันธ์ครูเข้าหารือ ก่อนจะได้ข้อสรุป 5 ข้อ คือ ให้ปิดการเรียนการสอนในระดับชั้นปฐมศึกษาทั้ง 3 เขตการศึกษา เป็นเวลา 2 วันคือระหว่างวันที่ 6-7 ธันวาคมนี้ หลังเกิดเหตุ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ขี่รถจักรยานยนต์ประกบยิง นางฉัตรสุดา นิลสุวรรณ ครูโรงเรียนบ้านตาโง๊ะ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม นายธีระพล ชูส่องแสง ครูโรงเรียนบ้านบอเกาะ อำเภอสุไหงโก-ลก ถูกยิงบาดเจ็บขณะกลับจากสอนหนังสือในช่วงเย็น พร้อมเรียกร้องขอให้รัฐบาลเร่งรัดข้อเรียกร้องของครูที่ต้องการย้ายออกจากพื้นที่ ,ย้ายครูไทยพุทธออกมาจากพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งหมด, ร้องขอ กำลังอาสาสมัคร เข้ามาดูแลหากเห็นว่าไม่ปลอดภัย และเร่งจัดตั้งกำลังชาวบ้านชุดคุ้มครองตำบล หรือ ชคต.ให้ครบทั้ง 75 ตำบลใน 13 อำเภอ

ด้าน องค์กรแอมเนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล หรือเอไอ ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก ที่มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ออกมาเรียกร้องให้สมาชิกที่มีอยู่ทั่วโลกกว่า 2 ล้านคน เขียนจดหมายถึงรัฐบาลไทย ให้จัดระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีกว่านี้ ให้แก่ครูและนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเรียกร้องให้กลุ่มก่อความไม่สงบยุติการใช้ความรุนแรง ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าว ระบุถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับครู โดยให้ข้อมูลว่า มีครูอย่างน้อย 4 คนถูกสังหาร และอีก 2 คนได้รับบาดเจ็บจากการลอบสังหาร โดยกลุ่มผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 สำหรับจดหมายที่เอไอระบุจะส่งให้รัฐบาลไทย ขอให้สมาชิกส่งหนังสือก่อนวันที่ 9 มกราคม 2556 พร้อมให้ระบุข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย
1.ให้รัฐจัดให้มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ครูในจังหวัดชายแดนใต้โดยทันที
2.รัฐบาลไทยต้องทำให้แน่ใจว่า ผู้กระทำความผิดจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และผู้ถูกกระทำรุนแรงรวมทั้งญาติจะได้รับความเป็นยุติธรรม รวมทั้งการเยียวยาที่เหมาะสม
3.แม้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะมีข้อท้าทายต่างๆ เนื่องจากมีการปะทะอยู่ตลอดเวลา แต่ก็มีหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองประชาชน จากการละเมิดสิทธิ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบ และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการปราบปรามการก่อความไม่สงบ โดยคำนึงถึงพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง