ฝนดาวตกเจมินิดส์ บนยอดดอยอินทนนท์ ไม่ทำให้ฝูงชนผิดหวัง เห็นฝนดาวตกทั่วหน้า

Logo Thai PBS
ฝนดาวตกเจมินิดส์ บนยอดดอยอินทนนท์ ไม่ทำให้ฝูงชนผิดหวัง เห็นฝนดาวตกทั่วหน้า

ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรมเปิดฟ้า...ตามหาดาว สัญจร ครั้งที่ 2 นำทีมโดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ พาประชาชนกว่าสองร้อยคน ร่วมชมฝนดาวตกเจมินิดส์บริเวณยอดดอยอินทนนท์

 ท่ามกลางอากาศหนาวจัดที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ช่วงหัวค่ำที่ผ่านมา มีให้ความรู้เกี่ยวกับฝนดาวตกเจมินิดส์ วิธีการดูดาวเบื้องต้น และแนะนำการใช้แผนที่ดาว ณ ศูนย์สารสนเทศและฝึกอบรมทางดาราศาสตร์ บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กม.ที่ 31
จากนั้นเวลาประมาณ 20.00 น. จึงเคลื่อนพลออกเดินทางไปยังบริเวณยอดดอยอินทนนท์ ซึ่ง สดร. จัดเตรียมกล้องโทรทรรศน์ขนาดต่างๆ มาติดตั้งในบริเวณดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้สังเกตวัตถุท้องฟ้า อาทิ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ กระจุกดาวเปิด กระจุกดาวคนคู่ กระจุกดาวลูกไก่ เนบิวล่า และกาแล็กซี่ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการแนะนำกลุ่มดาว และวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างตื่นตาตื่นใจไปกับดาวระยิบระยับเต็มฟ้าของยอดดอยอินทนนท์ที่นับได้ว่าเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในการดูดาว

สำหรับปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ในค่ำคืนนี้ ไม่ทำให้ประชาชนที่มาเฝ้ารอชมได้ผิดหวัง โดยเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่เวลาประมาณสองทุ่ม ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณใกล้กับกลุ่มดาวคนคู่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกเจมินิดส์ มีลักษณะเป็นริ้วสีขาวพาดผ่านท้องฟ้า สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีความเร็วของดาวตกไม่มากนัก ประมาณ 35 กิโลเมตรต่อวินาที ประกอบกับเป็นคืนเดือนมืด ข้างแรม 15 ค่ำ ไม่มีแสงจากดวงจันทร์มารบกวน และเนื่องจากอากาศบนยอดดอยมีความหนาวเย็นมาก ทำให้ประชาชนที่ขึ้นไปสังเกตการณ์ฝนดาวตกนอนรอชมพร้อมเครื่องกันหนาว ได้แก่ ถุงนอน หมอน ผ้าห่ม ตลอดช่วงที่ฝนดาวตกปรากฏให้เห็นก็จะมีเสียงฮือฮาอื้ออึงพร้อมเสียงเรียกชี้ชวนกันดูเป็นระยะๆ ทำให้บรรยากาศการเฝ้ารอชมฝนดาวตกเจมินิดส์ในครั้งนี้เต็มไปด้วยความคึกคักและสนุกสนานเป็นอย่างยิ่ง

มีประชาชนผู้สนใจในหลายจังหวัดของประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์อันน่าประทับใจ และร่วมโพสภาพฝนดาวตกเจมินิดส์ที่มีความสวยงามในหน้าเฟสบุ๊คของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติกันอย่างคับคั่ง เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสกลนคร และในกรุงเทพมหานคร ถึงแม้จะสังเกตได้ยากเนื่องจากมีแสงเมืองรบกวน แต่ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง สามารถมองเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์ได้เช่นเดียวกัน ส่วนพี่น้องภาคใต้ต้องอดชมฝนดาวตกเจมินิดส์ในครั้งนี้ เนื่องจากมีฝนตกและเมฆมาก ทำให้บอบังทัศนียภาพในการมองเห็น

ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากสายธารเศษฝุ่น ของแข็ง และน้ำแข็งจำนวนมาก ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaeton) ตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศของโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า โดยจะปรากฏให้เห็นมากที่สุดในช่วงเวลาตั้งแต่ 22:00 น. ของวันที่ 13 ธันวาคม ถึงเช้ามืดประมาณ 05:00 น. ของวันที่ 14 ธันวาคมของทุกปี ตามเวลาในประเทศไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง