มอบ“อมยิ้มกับนิทานสองภาษา Tan Tan Start and Rhythm Books” ให้ทุกห้องสมุด- อบรมเทคนิคเล่านิทานฟรี

สังคม
14 ธ.ค. 55
02:07
116
Logo Thai PBS
มอบ“อมยิ้มกับนิทานสองภาษา Tan Tan Start and Rhythm Books” ให้ทุกห้องสมุด- อบรมเทคนิคเล่านิทานฟรี

หวังเตรียมความพร้อมด้านภาษาให้เด็กไทย มุ่งสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมีคุณภาพ

 สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นร่วมกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดทำโครงการหนังสือชุด “อมยิ้มกับนิทานสองภาษา Tan Tan Start and Rhythm Books” ขึ้นโดยใช้งบประมาณกว่า 8 ล้านบาทในการจัดทำนิทาน 2 ภาษาที่เหมาะแก่เด็กทุกช่วงวัย เพื่อมอบให้แก่โรงเรียนในสังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร 437 แห่ง และห้องสมุดประชาชนในกรุงเทพมหานคร 37 แห่ง โดยมี นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับมอบหนังสือจาก ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และส่งมอบให้กับ นายโกสิน เทศวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร และนางปราณี สัตยประกอบ รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการส่งมอบให้กับห้องสมุดโรงเรียนและห้องสมุดประชาชนต่อไป ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กล่าวว่าเนื้อหาและภาพของหนังสือนิทานชุดนี้ เป็นการส่งเสริมการศึกษา สร้างสรรค์กระบวนการอ่าน ผ่านการเล่านิทาน ให้เด็กได้เรียนรู้ พร้อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่และผู้นำที่ดีของสังคมไทย ด้วยการพัฒนา I.Q. (ความฉลาดทางด้านเหตุผลและการคิดคำนวณ) ควบคู่ไปกับ E.Q (ความฉลาดหนักแน่นทางด้านอารมณ์และเชาว์ปัญญา) ถือว่าเป็นการวางรากฐานสำคัญให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ในช่วง 1-2 ทศวรรษข้างหน้า

“การค้นคว้าเพิ่มเติมความรู้ทางการศึกษา ปัจจุบันมีช่องทางให้เด็กได้หาความรู้อยู่มากมาย หนึ่งในนั้นที่สำคัญคือ “ห้องสมุด” ดังนั้นห้องสมุดของแต่ละโรงเรียน ควรมีหนังสือที่ดี มีประโยชน์ ที่สามารถเติมเต็มความรู้ให้กับนักเรียนได้อย่างพอเพียง ควบคู่กับกิจกรรมการเรียนรู้และบูรณาการกับการศึกษาในห้องเรียนอย่างต่อเนื่อง”

นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่ายินดีที่ห้องสมุดโรงเรียนทั้ง 437 แห่งในสังกัดกรุงเทพมหานคร และห้องสมุดประชาชนอีก 37 แห่ง จะได้รับหนังสือตามโครงการ “อมยิ้มกับนิทานสองภาษา เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กไทยสู่ประชาคมอาเซียน” และที่สำคัญ ปี 2556 เป็นปีที่กรุงเทพมหานครได้รับเกียรติจากองค์การ UNESCO ให้เป็น “เมืองหนังสือโลก หรือ World Book Capital 2013
“ตระหนักดีว่า หัวใจของหลักสูตรการศึกษาว่าด้วย “เก่ง ดี มีสุข” นั้น ข้อที่มักนำสู่ภาคปฏิบัติได้ยากนั้น คือ “มีความสุข” ส่วนความเก่งและดีนั้น มักเป็นสิ่งที่ครูและผู้ปกครองมักเน้นคาดหวังเรียกร้องจากเด็กเป็นเนือง ๆ ไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม การปลูกจิตสำนึกรักการอ่านให้กับเด็กตั้งแต่วัยเยาว์นั้นก็เพื่อให้เด็ก ได้เรียนรู้และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและเก่ง สามารถก้าวเป็นผู้นำของสังคมไทยต่อไปได้”

ด้านนายอาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เปิดเผยว่าโครงการมอบหนังสือให้แก่ห้องสมุดฟรีรวมถึงอบรมบรรณารักษ์และคุณครูที่จะไปใช้หนังสือที่มอบไปให้เกิดประโยชน์สูงสุดนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 แล้ว

“ธนาคารกรุงเทพสนใจเรื่องของการศึกษาอยู่แล้ว มีการสร้างโรงเรียน ซ่อมแซมอาคาร แต่เรามาคุยกันว่านอกจากตัวอาคารสถานที่แล้วนั้นการปลูกฝังเรื่องการอ่านก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะหนังสือที่จะเข้าห้องสมุด เพราะปัญหาที่เราเจอเวลาคนบริจาคหนังสือเข้าห้องสมุดส่วนใหญ่คือเป็นหนังสือที่ไม่ต้องการอีกแล้ว ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสมกับวัยเด็ก ถ้าเอาหนังสือที่ไม่เหมาะกับวัยไปให้ ห้องสมุดก็ไม่มีชีวิต เลยคุยกันแต่ว่าทำหนังสือใหม่ที่มีคอนเทนท์เหมาะกับเด็กๆแต่ละวัยมอบให้ห้องสมุดกัน”

ปีนี้นั้นเป็นการจัดทำหนังสือเป็นนิทานสองภาษาคือภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่เหมาะสมกับ 3 ช่วงวัย คือ กลุ่มอายุ 0-9 เดือน, กลุ่มอายุ 9 เดือน-3 ปี และกลุ่มอายุ 3-5 ปี (อนุบาล 1-3) กว่า 24 ชื่อเรื่อง ซึ่งบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ได้นำเข้าลิขสิทธิ์นิทานสองภาษา จากสำนักพิมพ์ Yeowon จากเกาหลีใต้ โดยนำเสนอผ่านเทคนิค 5 เทคนิคที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของแต่ละวัยคือ เล่าปากเปล่า เล่าโดยใช้อุปกรณ์ใกล้ตัว เล่าโดยใช้หนังสือประกอบการเล่า เล่าโดยใช้ภาพประกอบ เล่าโดยใช้ศิลปะเข้าช่วยเช่น การวาดรูป การพับกระดาษ เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมด้านภาษาให้แก่เด็กไทย ก่อนที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว

“เรายังจัดอบรมให้คุณครูที่ดูแลนักเรียนในแต่ละสถานศึกษา ให้ประสานความร่วมมือกับบรรณารักษ์ห้องสมุดของตน ร่วมกันเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคต่างๆในการเล่านิทานจากนักเล่ามืออาชีพซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้เด็กๆสนใจการอ่านด้วย รวมถึงห้องสมุดประชาชนในชุมชนแต่ละเขตของกทม. โดยจะมีการติดตามงานประเมินผลเสมอ”

ภายในงานการสาธิตและอบรมการเล่านิทานสองภาษาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง กิจกรรมการอ่านหนังสือเสริมประจำโรงเรียน (School Reading Camp) และ กิจกรรมการอ่านประจำครอบครัว (Family Reading Camp) ในสไตล์นิทานเล่า-ละครเพลง (The Musical Story-Telling) จากนักเล่านิทานที่มีประสบการณ์สูง จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ซึ่งได้รับความสนใจจากครูและบรรณารักษ์ห้องสมุดต่างๆในสังกัดกรุงเทพมหานครลงทะเบียนร่วมอบรมกว่า 600 ท่าน จนแน่นห้องประชุม

นอกจากนี้บุคลากรด้านการศึกษา กทม. ประมาณ 150,000 คน ได้ร่วมชมการถ่ายทอดสด ด้วย TV Online ผ่าน Url: www.praphansarn.com และสามารถดูซ้ำ (Re-run) ได้ที่ www.praphansarn.com เช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง