สหรัฐฯ จับตาความรุนแรงในสื่อ

Logo Thai PBS
สหรัฐฯ จับตาความรุนแรงในสื่อ

ทุกครั้งที่มีคดีอาชญากรรมที่ก่อขึ้นโดยเยาวชน สื่อส่วนหนึ่งมักถูกจับตาว่ามีส่วนกระตุ้นพฤติกรรมรุนแรงในเด็ก ดังเช่นกรณี อดัม แลนซ่า ผู้ก่อคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญที่โรงเรียนประถมในสหรัฐฯซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลว่าเกมที่เขาชื่นชอบกลับเต็มไปด้วยความรุนแรง

Call of Duty: Black Ops II เกมยิงปืนสุดดังของสหรัฐฯซึ่งทำสถิติยอดขายกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ คือหนึ่งในเกมยอดนิยมของวัยรุ่นอเมริกัน รวมถึง อดัม แลนซ่า อดีตนักเรียนโรงเรียน Newtown High School ที่ใช้เวลาหมกตัวอยู่ในห้องพักส่วนตัวบริเวณชั้นใต้ดินของบ้าน เพื่อเล่น Call of Duty วันละหลายชั่วโมง ก่อนที่จะก่อเหตุสะเทือนขวัญด้วยการใช้ปืนกราดยิงในโรงเรียนประถม Sandy Hook Elementary School จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 20 ราย

จากการเปิดเผยของ ปีเตอร์ วลาซัค ช่างประปาที่เคยเข้าไปทำงานในบ้านของแลนซ่า กล่าวว่า เด็กหนุ่มจะเล่นแต่เกมยิงปืนวันละหลายชั่วโมง และที่ฝาผนังก็เต็มไปด้วยโปสเตอร์อาวุธปืนของกองทัพสหรัฐฯในสมัยต่างๆ และมักบอกกับเขาว่ามีปืนแบบไหนบ้างที่เคยใช้เล่นเกม Call of Duty มาแล้ว จึงเกิดคำถามว่าความรุนแรงในสื่อมีส่วนกระตุ้นพฤติกรรมเยาวชนแค่ไหน

ไม่กี่วันหลังเหตุสะเทือนขวัญ กลุ่มผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ 300 รายในฮอลลีวูดเปิดเผยรายชื่อบทภาพยนตร์ขึ้นบัญชีดำ ซึ่งส่วนมากเป็นบทภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยเนื้อหารุนแรง โดยผู้จัดทำรายชื่อยอมรับว่าแต่ละปีจะมีบทภาพยนตร์เนื้อหาประเภทนี้ส่งมาให้พิจารณาอย่างต่อเนื่อง

ความตื่นตระหนกต่อความรุนแรงในสื่อส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหลายวงการในสหรัฐฯ วงการโทรทัศน์มีการเลื่อนออกอากาศเรียลิตี้ โชว์และภาพยนตร์ที่ไม่เหมาะสม และมีการขึ้นคำเตือนก่อนฉายของละครดังอย่าง Homeland และ Dexter ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงคราม และฆาตกรต่อเนื่อง ขณะที่วงการภาพยนตร์มีหนังเรื่องที่ 3 ต้องถูกเลื่อนฉายรอบปฐมทัศน์ คือ Django Unchained เรื่องราวคาวบอยผิวสี ส่วนสถานีวิทยุหลายแห่งก็ไม่เล่นเพลง Die Young ซิงเกิลใหม่ของ เคช่า เนื่องจากมองว่าจะสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้ฟัง

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้อาวุธปืนกลายเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาในสหรัฐฯ โดย Discovery Channel ได้ยุติการออกอากาศรายการ Gun Country ซึ่งสนับสนุนให้ชาวอเมริกันครอบครองปืน ดำเนินรายการโดย เทด นูเจนท์ ร็อกเกอร์หัวอนุรักษ์นิยม ผู้โจมตีนโยบายควบคุมปืนของบารัก โอบาม่า รวมถึงรายงานว่าบริษัทระดมทุนแห่งหนึ่งเตรียมขายหุ้นของบริษัทผู้ผลิตปืนไรเฟิล AR15 เนื่องจากเป็นอาวุธที่อดัม แลนซ่าใช้ก่อเหตุ หลังถูกกดดันโดยผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมครูผู้เกษียณอายุแห่งแคลิฟอร์เนีย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง