นักวิชาการ-เอ็นจีโอ เสนอสกัดวิกฤตสาธารณสุขชายแดน เปิดหลักสูตรดึงต่างด้าว-ชุมชนร่วมทีม"

สังคม
21 ธ.ค. 55
09:08
149
Logo Thai PBS
นักวิชาการ-เอ็นจีโอ เสนอสกัดวิกฤตสาธารณสุขชายแดน  เปิดหลักสูตรดึงต่างด้าว-ชุมชนร่วมทีม"

ปัญหาสาธารณสุขชายแดนยังน่าห่วง เ เสนอทางออกให้ปั้น”คนในพื้นที่” มาทำหน้าที่แทนอสม. ป้องกันการขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุขในถิ่นทุรกันดาร เตือนรัฐเร่งดูแลแรงงานต่างด้าว 5 ล้าน สกัดสถานการณ์บานปลายกลายเป็น “รังโรค”

 การประชุมวิชาการเรื่อง “การแก้ไขสุขภาพในพื้นที่ชุมชนชายแดน” ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา นายพิเชษฐ พงษ์หงส์ ตัวแทนจากมูลนิธิศุภนิมิต องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานต่างด้าว กล่าวว่า ประเทศไทยมีประชากรแฝงเป็นแรงงานต่างด้าวสูงถึง 5 ล้านคน จึงควรให้ความสนใจเรื่องของสุขภาพประชากรกลุ่มนี้ให้มากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่แบบแฝง ซึ่งจะไม่ได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล ทั้งที่เป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุด

ตัวแทนจากมูลนิธิศุภนิมิต กล่าวว่า ประชากรกลุ่มนี้เข้าถึงยาก เพราะอาจอยู่ในแหล่งสลัม หรือในสวนยางพารา ทั้งยังย้ายถิ่นฐานอย่างรวดเร็ว ล่าสุดทางมูลนิธิใช้แนวทางการจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว หรือ อสต. ที่มีลักษณะการทำงานคล้ายอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) รวมถึงการสร้างศูนย์อสต.ในพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงกับอสม. พร้อมทั้งศูนย์ให้ข้อมูลข่าวสารกับแรงงานต่างด้าว หากเข้าถึงระบบบริการ ก็จะสามารถเชื่อมโยงสู่การรักษาได้อย่างถูกต้อง

"โรคต่างๆเหล่านี้ไม่ได้แบ่งเชื้อชาติและแบ่งเพศ สิ่งที่เราพบคือสถานการณ์ของโรคที่หายไปชั่วคราว มีโอกาสกลับมาระบาดซ้ำ และอาจส่งผลกระทบกับคนไทย ถ้าไม่สามารถเข้าถึงประชากรกลุ่มนี้ได้ ก็จะเหมือนกับเป็นรังโรค โดยเฉพาะวัณโรค และเอชไอวี" นายพิเชษฐกล่าว

ด้านนางแวกรือซง เจ๊ะสะนิ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รักษาการผอ.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนตำบล (รพ.สต.) แหลมโค อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กล่าวว่า ปัญหาสาธารณสุขของจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลักๆคือเรื่องความปลอดภัยของบุคลากร เพราะพื้นที่มีความเสี่ยงสูง เข้าถึงได้ยาก ทำให้การทำงานลำบาก หลายคนไม่อยากจะแสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะเกรงจะไม่ปลอดภัย ทั้งชาวบ้านเองก็ไม่ยอมเข้าถึงการรักษาด้วย ปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบมาถึงสุขภาพของประชาชน จนทำให้เกิดการระบาดของโรคคอตีบในพื้นที่ ดังนั้นต้องทำงานเป็นเชิงรุก เข้าพื้นที่บ่อยขึ้นโดยการสร้างเครือข่าย รวมทั้งเพิ่มอัตรากำลังของอสม.

นพ.พิเชฐ บัญญัติ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ของการทำงานในพื้นที่ชายแดนจ.ตาก พบปัญหาบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานชายแดน ล้วนแต่เป็นคนที่อยู่ในเมือง ซึ่งวันหนึ่งก็จะต้องย้ายออกไป ทำให้เกิดการขาดแคลนกำลังคน สภาพความทุรกันดารในพื้นที่ ทำให้การเข้าถึงการบริการเป็นไปได้ยาก จำเป็นต้องคัดคนในพื้นที่ แล้วมาอบรมหลักสูตรว่าพนักงานสุขภาพชุมชนชายแดน พร้อมสามารถขยายหลักสูตรการอบรมบุคลากรเหล่านี้ให้สูงขึ้น ถึงในระดับอนุปริญญา เพื่อทำให้คนเหล่านี้กลับไปทำงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งหากภาครัฐมีงบประมาณและอัตราจ้างด้วย จะเป็นกำลังด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดนได้เป็นอย่างดี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง