100 ปี "ครูเนรมิต" บรมครูแห่งวงการภาพยนตร์ไทย

Logo Thai PBS
 100 ปี "ครูเนรมิต" บรมครูแห่งวงการภาพยนตร์ไทย

จากความสนใจในศาสตร์ของละครและการคลุกคลีอยู่กับการแสดงมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ "อำนวย กลัสนิมิ" ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์และได้ผลิตผลงานจนเป็นที่ยอมรับในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาล จึงมีการรำลึกถึงในฐานะผู้กรุยทางให้กับวงการหนังไทยและเป็นบรมครูของบุคคลสำคัญในวงการหนังไทยอีกหลายคน

การรวมนักแสดงละครเวทีชื่อดังบนจอเงินเป็นครั้งแรกเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวของ จอก ดอกจันทร์ ดาวตลกชื่อดัง ที่เสียชีวิตขณะแสดงละครเวที ไม่เพียงทำให้ภาพยนตร์เรื่อง พี่ชาย ฉบับปี 2494 ของ อำนวย กลัสนิมิ หรือครูเนรมิต เป็นที่สนใจของแฟนหนัง หากชั้นเชิงการเล่าเรื่องและตัดต่อชั้นครู ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ ในฐานะผู้บุกเบิกหนัง 16 มิลลิเมตรต่อจากสุภาพบุรุษเสือไทย ส่งให้ชื่อของครูเนรมิต กลายเป็นที่ต้องการของนายทุนจนมีผลงานการกำกับมากกว่าร้อยเรื่อง ทั้งเรือนแพ อวสานอินทรีแดง และหนังไตรภาคอย่าง ผู้ชนะสิบทิศ ทั้งยังเป็นผู้ปลุกปั้นดาราชั้นนำทั้ง มิตร-เพชรา  สมบัติ เมทะนี  ไชยา สุริยัน และ พิศมัย วิไลศักด์  รวมถึงศิษย์เอกอย่าง ส.อาสนจินดา ซึ่งต่อมากลายเป็นนักแสดงและผู้กำกับคนสำคัญของวงการหนังไทย

นอกจากจะเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการสร้างภาพยนตร์ไทยในยุค 16 มิลลิเมตรแล้ว ครูเนรมิตยังถือเป็นผู้บุกเบิกการถ่ายทำภาพยนตร์ในต่างประเทศอีกด้วย เช่น หงษ์หยกและมังกรทอง ที่ถ่ายทำในฮ่องกง  สามรักในปารีส ในฝรั่งเศส และราตรีในโตเกียว ที่ถ่ายทำในญี่ปุ่น ทั้งยังนำหนังไทยออกฉายในตลาดโลก ร่วมกับบริษัทอัศวินภาพยนตร์ และชอว์ บราเดอร์ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการหนังเอเชีย  ทำให้ ครูเนรมิต กลายเป็นบุคคลที่มีบทบาทในวงการภาพยนตร์ไทย จนได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี 2538

แม้จุดเริ่มต้นในการเข้าสู่วงการภาพยนตร์จะเป็นเพราะเหตุบังเอิญ จากการเข้ามารับหน้าที่ผู้กำกับแทนขุนวิจิตรมาตรา ที่ถอนตัวกระทันหันจากภาพยนตร์เรื่อง บ้านไร่นาเรา  หากก็ไม่ทำให้ครูเนรมิตถอดใจ ทำงานหนักและศึกษาการทำหนังเพิ่มเติม โดยมีครูดีเป็นหนังสือจากต่างประเทศ ก่อนจะนำมาถ่ายทอดให้แก่ศิษย์เพื่อเป็นแนวทางการทำงาน แม้จะเกษียนตัวเองจากการทำหนัง แต่ด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู ทำให้ครูเนรมิตยังคอยให้คำปรึกษาแก่ศิษย์จนวาระสุดท้าย หวังให้หนังไทยพัฒนาต่อไปในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง