ยกเลิกเบนซิน 91: อีกหนึ่งก้าวของนโยบาย

เศรษฐกิจ
28 ธ.ค. 55
08:22
810
Logo Thai PBS
ยกเลิกเบนซิน 91: อีกหนึ่งก้าวของนโยบาย

เปิดศักราชใหม่ 2013 จะไม่มีการผลิตน้ำมันเบนซินออกเทน 91 อีกต่อไป แม้ผู้ที่เคยใช้เบนซิน 91 อยู่เดิมจะได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็อาจเป็นผลดีในแง่การประหยัดค่าใช้จ่าย ถ้าสามารถเลือกเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนอย่างแก๊สโซฮอล์ซึ่งมีราคาถูกกว่าได้ หากมองในระยะยาว

 นโยบายนี้อาจทำให้เศรษฐกิจประเทศมีความแข็งแกร่งมากขึ้น จากการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ และนำพืชที่ปลูกได้ในประเทศมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ อีกทั้งคุณภาพชีวิตของคนไทยจะดีขึ้น จากปัญหามลพิษ และสิ่งแวดล้อมที่บรรเทาเบาบางลง

 
สาเหตุที่รัฐยกเลิกการจำหน่ายเบนซิน 91 เพราะต้องการสนับสนุนพลังงานทดแทน โดยส่งเสริมให้คนหันมาใช้
 
แก๊สโซฮอล์มากขึ้น จากยุทธศาสตร์ของประเทศที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการนำเข้าน้ำมันอย่างยั่งยืน และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พลังงานทดแทนจึงได้รับการส่งเสริมให้มีการใช้เพิ่มมากขึ้นแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือน้ำมันดิบที่นับวันมีแต่จะหมดไป 
 
ทางกระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 2012-2021 โดยกำหนดให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจาก 7,413 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) ในปี 2012 เป็น 25,000 ktoe ในปี 2021 หรือคิดเป็น 25% ของการใช้พลังงานรวมทั้งหมดที่คาดว่าจะมีประมาณ 1 แสน ktoe ในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ในส่วนของภาคขนส่ง ได้ตั้งเป้าหมายการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล จำนวน 40 ล้านลิตร/วัน เพื่อทดแทนการใช้น้ำมัน 44% และลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบ ซึ่งมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
 
ทั้งนี้ ในปี 2011 ไทยนำเข้าน้ำมันดิบสูงถึง 4.6 หมื่นล้านลิตร ซึ่งมีมูลค่ากว่า 9.8 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า 85% ต่อปริมาณการใช้น้ำมันทั้งหมดในประเทศ ดังนั้นการยกเลิกการจำหน่ายเบนซิน 91 เพื่อให้คนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์ที่มีส่วนผสมของเอทานอล ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด จะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 3.6 พันล้านลิตรต่อปี และลดปัญหามลพิษได้อีกทางหนึ่ง
 
การยกเลิกเบนซิน 91 ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำมันเบนซิน 91 ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจุบันปริมาณการบริโภคเบนซิน 91 มีประมาณ 8 ล้านลิตร/วัน คิดเป็นสัดส่วน 9% ของการบริโภคเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ทั้งหมด 
 
โดยผู้ใช้น้ำมันเบนซิน 91 เดิม ได้แก่ ผู้ใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถจักรกลการเกษตร 2 จังหวะ รวมทั้งสิ้นกว่า 1 ล้านคัน ต้องเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นทดแทน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีเวลาปรับตัวถึงประมาณไตรมาสแรกของปี 2013 เพราะแม้โรงกลั่นเริ่มทยอยหยุดการผลิตเบนซิน 91 ภายในสิ้นปี 2012 แต่สถานีบริการยังสามารถจำหน่ายเบนซิน 91 ที่ค้างอยู่ในคลังให้หมดภายในอีก 3 เดือนข้างหน้า 
 
ในส่วนของผู้ผลิตอย่างโรงกลั่นน้ำมัน แม้ต้องพึ่งวัตถุดิบอย่างเอทานอลมากขึ้น แต่คาดว่าจะมีผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากธุรกิจได้เตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่งแล้ว เช่น การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ซึ่งโรงกลั่นจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แต่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ 
 
สำหรับผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น EIC ประเมินว่าจะมีรายรับลดลงประมาณ 47 ล้านบาท/วัน[1] หรือประมาณ 31% ของรายรับต่อวันในปัจจุบัน ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถของกองทุนฯ ในการจ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันอื่นๆที่ได้รับการอุดหนุน ส่งผลต่อไปยังเสถียรภาพของระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ
 
ทางเลือกของผู้ใช้เบนซิน 91 คือเปลี่ยนมาใช้เบนซิน 95 หรือ แก๊สโซฮอล์ และรถบางประเภทต้องมีการปรับแต่งเครื่องยนต์เพื่อให้ใช้แก๊สโซฮอล์ได้ คาดว่าประมาณ 17% ของผู้ใช้เบนซิน 91 จะเปลี่ยนมาใช้เบนซิน 95, 25% ใช้แก๊สโซฮอล์ 95 และ 58% ใช้แก๊สโซฮอล์ 91[2] ทั้งนี้ การเปลี่ยนมาใช้เบนซิน 95 เป็นทางเลือกที่มีต้นทุนสูงขึ้น เพราะราคาเบนซิน 95 แพงกว่าเบนซิน 91 เกือบ 5 บาท/ลิตร ยกเว้นว่าภาครัฐจะปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของเบนซิน 95 เพื่อทำให้ราคาขายปลีกเบนซิน 95 ลดลงมาใกล้เคียงกับราคาเบนซิน 91 
 
หากเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่ารัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง ส่วนการเปลี่ยนมาใช้แก๊สโซฮอล์นั้น เป็นสิ่งที่ภาครัฐมุ่งหวังให้เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ ปัจจุบันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 มีราคาถูกกว่าเบนซิน 91 อยู่ประมาณ 6 บาท/ลิตร และ 8 บาท/ลิตร ตามลำดับ จึงน่าจะเป็นแรงจูงใจให้คนเปลี่ยนมาใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มมากขึ้นกว่าปัจจุบันที่มีการใช้อยู่ราว 12 ล้านลิตร/วัน ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ขับขี่ก็ยอมรับการใช้แก๊สโซฮอล์มากขึ้น และคลายความกังวลเรื่องที่แก๊สโซฮอล์อาจไปกัดกร่อนอุปกรณ์เครื่องยนต์ จึงทำให้ปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์มีการเติบโตกว่า 24% ต่อปี ระหว่างปี 2007-2011 ในขณะที่การใช้เบนซิน 91 ได้รับความนิยมลดลง จากที่เคยมีการบริโภค 12 ล้านลิตร/วัน ในปี 2007 เหลือเพียง 8 ล้านลิตร/วัน ในปี 2011
 
ทั้งนี้ รถยนต์ที่ผลิตตั้งแต่ปี 1995 รถจักรยานยนต์ 4 จังหวะ และรถจักรกลการเกษตร 4 จังหวะ ที่เดิมใช้เบนซิน 91 สามารถเปลี่ยนมาใช้
 
แก๊สโซฮอล์ได้เลย แต่รถยนต์ที่ผลิตก่อนปี 1995  รถจักรยานยนต์ 2 จังหวะ ก่อนปี 2000 และรถจักรกลการเกษตร 2 จังหวะ จะต้องมีการปรับแต่งเครื่องยนต์เพื่อให้สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ได้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 500-1,000 บาท/คัน 
 
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพลังงานก็ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้เบนซิน 91 โดยจัดตั้งศูนย์บริการปรับแต่งเครื่องยนต์ให้สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ได้ ผ่านทางสถาบันการศึกษาของรัฐกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ โดยออกค่าแรงให้ฟรี เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2012 ถึง 24 เมษายน 2013 ซึ่งมีการให้บริการปรับอัตราส่วนผสม อากาศ-เชื้อเพลิง ให้เหมาะสมกับแก๊สโซฮอล์  E10 เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ล้างคาร์บูเรเตอร์ และเปลี่ยนกรองน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้ หากผู้บริโภคเปลี่ยนการใช้เบนซิน 91 มาเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 จะช่วยประหยัดเงินได้ถึง 15,000 บาทต่อปี 
 
ผู้ได้รับประโยชน์ ได้แก่ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง โรงงานเอทานอล รวมทั้ง เศรษฐกิจ และประชาชนโดยรวม ความต้องการแก๊สโซฮอล์ที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย และมันสำปะหลัง มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากการนำผลผลิตทางการเกษตรส่งขายเข้าโรงงานผลิตเอทานอล ซึ่งทำให้ได้มูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าการขายพืชผลการเกษตรทั่วไป เช่น มันเส้นในราคา 6.4 บาท/กิโลกรัม หากนำไปขายเพื่อผลิตเอทานอลจะได้ราคา 7.3 บาท/กิโลกรัม อีกทั้งยังช่วยลดความผันผวนด้านราคาของอ้อย และมันสำปะหลัง จากการที่มีตลาดรองรับสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้น 
 
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตเอทานอลมีแนวโน้มการเติบโตที่สดใสขึ้น เนื่องจากความต้องการเอทานอลที่ส่งให้โรงกลั่นเพื่อนำไปผลิตแก๊สโซฮอล์จะสูงขึ้นมากในอนาคต ช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตของโรงงานเอทานอลที่ปัจจุบันมีอยู่ 20 โรง มีกำลังการผลิต 3.3 ล้านลิตร/วัน แต่ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2012 มีการผลิตเพียง 1.85 ล้านลิตร/วัน ซึ่งยังต่ำกว่าความสามารถในการผลิตอยู่มาก คิดเป็น 56% ของกำลังการผลิตรวม 
 
อย่างไรก็ตาม จากการที่ภาครัฐสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเอทานอล เช่น การให้สิทธิพิเศษทางภาษี ทำให้ช่วงปี 2007-2011 ปริมาณการผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงมีการเติบโตเฉลี่ย 28% ต่อปี แต่เนื่องจากความต้องการเอทานอลในประเทศยังค่อนข้างต่ำ จึงต้องส่งออกปริมาณการผลิตส่วนที่เหลือ ซึ่งการส่งออกเอทานอลมีการเติบโตสูงถึง 75% ต่อปี ระหว่างปี 2007-2011 และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2012 มีการส่งออกเอทานอลกว่า 263 ล้านลิตร 
 
หากพิจารณาผลได้ต่อเศรษฐกิจและสังคม การยกเลิกเบนซิน 91 จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบ ทำให้ประหยัดเงินตราต่างประเทศ และลดการขาดดุลการค้า 
 
นอกจากนี้ การเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแก๊สโซฮอล์ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อน รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ เพราะแก๊สโซฮอล์ผลิตจากพืชที่สามารถปลูกหมุนเวียนได้ไม่มีวันหมดสิ้น
 
ผู้บริโภคเบนซิน 91 อยู่เดิม ต้องหาทางเลือกอื่นที่เหมาะสม  สำหรับรถที่สามารถเปลี่ยนมาใช้แก๊สโซฮอล์ได้ วิธีนี้อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจกว่าการใช้เบนซิน 95 ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง แต่อาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการปรับแต่งเครื่องยนต์ ส่วนการเปลี่ยนมาใช้ NGV และ LPG เป็นทางเลือกที่ไม่น่าจูงใจเท่าไรนัก เพราะแม้ราคาจะถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น แต่จะมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูงถึง 3-5 หมื่นบาท

อีกทั้งภาครัฐมีแผนลอยตัวราคาในปี 2013  เกษตรกร โรงงานเอทานอล ควรเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แม้ว่ากำลังการผลิตของโรงงานจะสามารถสนองความต้องการเอทานอลที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2 ล้านลิตร/วัน จากการยกเลิกเบนซิน 91 แต่ก็ควรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุน สร้างความได้เปรียบการแข่งขันหากมีคู่แข่งเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้มากขึ้น ส่วนชาวไร่อ้อย และมันสำปะหลัง ควรหาวิธีเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เตรียมตัวรองรับความต้องการเอทานอล และการใช้แก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มสูงขึ้น 
 

ต้องคำนึงถึงความมั่นคงทางอาหาร ควบคู่กับความมั่นคงทางพลังงาน การนำสินค้าเกษตรอย่าง อ้อย และมันสำปะหลัง ไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น อาจทำให้ปริมาณพืชผลที่จะนำไปบริโภค หรือแปรรูปเป็นอาหารน้อยลง จนส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ดังนั้นจึงต้องบริหารจัดการการใช้สินค้าเกษตร ทั้งในด้านพลังงาน และด้านอาหาร อย่างเหมาะสม และมีความสมดุล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง