ชีพจรดนตรี 2555 กับธุรกิจเพลงในอนาคต

Logo Thai PBS
ชีพจรดนตรี 2555 กับธุรกิจเพลงในอนาคต

ความโด่งดังของ กังนัมสไตล์ กลายเป็นปรากฏการณ์ทางดนตรีที่สำคัญที่สุดในปี 2012 ซึ่งความสำเร็จของศิลปินจากเอเชียรายนี้อาจช่วยเปิดโอกาสให้ศิลปินจากเอเชียอื่นๆ หากปัญหาสำคัญเรื่องการหาแนวทางธุรกิจเพลงในยุคดิจิตัลยังเป็นสิ่งที่หลายคนมองหาแม้โลกจะก้าวสู่ยุคดิจิตอลมาแล้วเกือบ 10 ปี

ลีลาเท่าเต้นควบม้าของแฟนกีฬาชาวอเมริกันในเพลง กังนัมสไตล์ สะท้อนความนิยมของเพลงฮิตแห่งปี 2012 ที่แม้จะมีเนื้อร้องภาษาอังกฤษเพียงประโยคเดียว แต่ก็สามารถแทรกตัวเป็นส่วนหนึ่งในวิถีของชาวอเมริกัน ตลาดใหญ่ของอุตสาหกรรมเพลงโลกได้สำเร็จ ด้วยเวลาเพียง 6 เดือนนับแต่ปล่อยมิวสิควิดีโอบนเว็บไซท์ยูทูบ PSY แร็ปเปอร์ชาวเกาหลีใต้ทำเงินไปแล้วกว่า 13.4 ล้านเหรียญทั่วโลก ทั้งยังสร้างปรากฏการณ์เป็นศิลปินเอเชียเคยแรกที่ขึ้นถึงอันดับ 1 ในชาร์ตเพลงอังกฤษและอันดับสองในชาร์ตเพลงฝั่งอเมริกา ขณะที่ความนิยมของบทเพลงยังขยายตัวผ่านสื่อต่างๆ อย่างการนำท่าควบม้าไปเต้นโดยคนดังในวงการต่างๆ รวมมิวสิควิดีโอล้อเลียนของแฟนเพลง ทั้งยังถูกใช้ในแวดวงการเมืองอย่างผลงานของศิลปินจีน อ้าย เว่ยเว่ย หรือการทำมิวสิควิดีโอล้อเลียนผู้สมัคร ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ลี ยูฮยอน อดีตบรรณาธิการข่าวบันเทิงเกาหลีใต้และบรรณาธิการบริหารนิตยสาร The Bridges สื่อเกาหลีในประเทศไทย บอกว่า ความสำเร็จของไซเกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งดนตรีที่ติดหูและท่าเต้นที่ทุกคนสามารถเต้นตามไปด้วยได้ ด้านอัสนี โชติกุล นักร้องและโปรดิวเซอร์เพลง สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ไซ มันไม่ใช่เรื่องฟลุ๊ค เขามีการศึกษาดนตรี ทำงานหนักและวางแผนมาเป็นอย่างดี อีกทั้งที่สิ่งที่เขาทำมันถูกที่ถูกเวลาด้วย

ยอดวิวในยูทูบกว่า 400 ล้านครั้งของเพลง Ai Se Eu Te Pego! ของ Micel Telo ป็อปสตาร์ชาวบราซิล ที่ได้รับความนิยมไปทั่วยุโรป และกลายเป็นท่าเต้นแห่งชัยชนะ เมื่อนักฟุตบอลดังยิงประตูได้สำเร็จ อีกกระแสบทเพลงยอดนิยมที่ถูกพูดถึงไม่แพ้แร็ปเปอร์จากเกาหลี ความสำเร็จของศิลปินจาก บราซิล และเกาหลีใต้ในปีนี้ ทำให้วงการเพลงโลกหันเหทิศทางไปลงทุนเซ็นสัญญากับศิลปินจาก เอเชียและอเมริกาใต้มากขึ้น เพื่อค้นหาดาวดวงใหม่ที่จะขับเคลื่อนวงการต่อไป และยังเป็นโอกาสที่ศิลปินจากเป็นประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวงการเพลงโลก

หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จ ของ ศิลปิน อย่าง PSY คือการสร้างกระแสใน Youtube และเครือข่ายสังคมออนไลน์จนเป็นไวรัลวิดีโอ ก่อนที่ผลงานเพลงและการแสดงของศิลปินจะไปถึงคนฟัง ซึ่งกำลังกลายเป็นสูตรสำเร็จที่ทำให้ศิลปินจากเอเชียก้าวไปมีบทบาทในวงการเพลงโลก แต่สำหรับศิลปินไทย ในปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าสื่อออนไลน์กลับเป็นอุปสรรคในการเก็บรายได้ภายในประเทศ

 

<"">
 
<"">

การประกาศยกเลิกเผยแพร่ผลงานใน เว็บไซต์ยูทูบดอท.คอม ของค่ายเพลงใหญ่อย่าง จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ด้วยเหตุผลที่ว่าสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่สามารถเก็บรายได้โฆษณาจากช่องทางนี้ได้ เหมือนในหลายๆประเทศ แม้จะต้องยกเลิกการประกาศนี้ในที่สุด เพราะไม่อาจต้านทานเสียงเรียกร้องของแฟนเพลงได้ แต่เหตุการณ์นี้ก็เหมือนเสียงสะท้อนของค่ายเพลงไทย ที่อยากได้พื้นที่เผยแพร่ผลงาน สร้างรายได้ แบบไม่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์

แม้วงการเพลงไทยจะปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิตอลมาเกือบ 10 ปี แต่รายได้จากการดาวน์โหลดยังตกต่ำมายาวนาน เกือบ 4 ปี จึงไม่แปลกที่ในปีที่ผ่านมาเราได้เห็นวงการเพลงยังวนเวียนขายความสำเร็จของศิลปินยุคเก่า ในรูปแบบคอนเสิร์ตย้อนยุคเรียกความทรงจำ

นิติพงษ์ ห่อนาค ผู้บริหารค่ายเพลงสหภาพการดนตรี กล่าวว่า ตอนนี้เราอยู่ก้นเหวแล้ว ไม่มีอะไรเป็นข่าวร้าย ไม่มีคนลงทุนทำเพลง ศิลปินใหม่ทำแค่ 1-2 เพลงเท่านั้น ไม่มีพลัง เพลงไม่เยอะพอจนสามารถ เปิดคอนเสิร์ตได้ ด้านพรเทพ เฮง นักวิจารณ์เพลง เห็นด้วยว่าปีนี้ไม่มีใครที่โดดเด่น อาจจะเป็นเพราะ กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากสื่อไปอีกสื่อหนึ่ง แต่ปีน่าการปรับตัวของเทคโนโลยีอาจจะทำให้มันดีขึ้นก็ได้

การเข้ามาของเทคโนโลยีอย่าง 3จี ที่จะเอื้อให้การดาวน์โหลดผลงานของศิลปินสะดวกสบายขึ้น และ การเปิดตัวในไทยของ Deezer เว็บไซต์ให้บริการฟังเพลงและดาวน์โหลดเพลงเก็บไว้ได้แบบถูกลิขสิทธิ์ กำลังเป็นความหวังใหม่ให้คนในวงการเพลง เพราะเชื่อว่าจะเพิ่มรายได้ให้ค่ายเพลงและศิลปิน หากนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ค่ายเพลงรวมตัวกันเพื่อหาแพลทฟอร์มสำหรับขายผลงานผ่านสื่ออนไลน์ ซึ่งที่แล้วมาล้วนประสบความล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็น MusicOne ของค่ายเพลงต่างประเทศหรือ You2play ของผู้จัดจำหน่ายเพลงไทย ขณะที่ผลสำรวจ Google Zeitgist ของไทยปีล่าสุดยังระบุว่าเว็บไซท์แชร์ไฟล์ ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อย่าง 4share ยังติดอันดับหนึ่งต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จึงยังคงมีคำถามถึงอนาคตวงการเพลงไทย ว่าความฝันที่เฝ้ารอจะเป็นจริงหรือไม่


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง