ฟ้าเปิด 2556 ส่งออกก้าวกระโดด 8 % กระทิงวิ่งทะลุ 1,500 จุด-เอฟดีไอทะลักไทย

2 ม.ค. 56
04:28
84
Logo Thai PBS
ฟ้าเปิด 2556 ส่งออกก้าวกระโดด 8 %        กระทิงวิ่งทะลุ 1,500 จุด-เอฟดีไอทะลักไทย

ปีมะโรงงูใหญ่ 2555 กำลังจะผ่านไปสู่ปีมะเส็ง มีหลากหลายเรื่องราวที่ต้องบันทึกไว้ในรอบปี 2555 แต่สิ่งที่หนึ่งที่สำคัญคือเรื่องคือปากท้อง คือ เรื่องเศรษฐกิจของประเทศ เพราะอย่าลืมว่าวัน 1 ม.ค.2555 ที่ผ่านมา หลายคนวิดน้ำออกจากบ้านยังไม่หมดทำให้คาดการณ์กันว่าปี 2555 จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นอีกรอบ แต่จนแล้วจนรอดเราก็ผ่านมันมาได้และกำลังจะเข้าสู่ปี 2556 ด้วยกัน

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2555 จะขยายตัว 5.5% เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอ โดยเฉพาะวิกฤตยุโรปที่กระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อาเซียน ทำให้สินค้าในห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบในทางลดลงและการส่งออกที่ลดลง ส่วนปี 2556 แนวโน้มคาดว่า จะขยายตัว 4.5-5.5% แล้วในมุมมองของภาคเอกชน และ นักวิชาการ จะเป็นอย่างไร

คาดเศรษฐกิจไทยปี 2556 โต 5-5.5 %

ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต (MPA) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2556 เชื่อว่า น่าจะขยายตัวประมาณ 5-5.5 % จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มคลี่คลาย และ การกระตุ้นภายในประเทศ ซึ่งหากมองไปที่เศรษฐกิจยุโรปปี 56 จะยังไม่ดีมากนัก แต่อาจจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ เรื่อง Fiscal Cliff หรือ หน้าผาทางการคลัง ไม่มีอะไรน่าห่วงเพราะในที่สุดแล้วการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ สภาครองเกรส น่าจะผ่านลุล่วงไปได้ในที่สุด

ขณะที่การส่งออกจะดีขึ้นคาดว่าจะขยายตัวที่ 6-8 % โดยมีตลาดหลักเป็นตลาดเอเชียแทนตลาดยุโรป และ สหรัฐฯ ที่ลดลงไป

ส่วนภายในประเทศมีแรงกระตุ้นจากปัจจัยบวกทั้งเรื่องงบประมาณที่ตั้งขาดดุลไว้ประมาณ 300,000 ล้านบาท โครงการบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท รวมถึงงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลอีกทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากขึ้นกว่าปี 55

การลงทุนปี 56 จะคึกคักเพระมีเงินไหลเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก เพราะทุกคนมองเห็นโอกาสใน AEC จะต้องการเข้ามายังประเทศไทย เพราะไทยถือเป็นศูนย์กลาวของกลุ่มประเทศนี้ แต่มีสิ่งที่น่าห่วงคือ ค่าเงินบาทของไทยจะแข็งค่าขึ้น รวมถึงตลาดหุ้นน่าเพิ่มเป็น 1,500 จุด

“ธนวรรธน์” ชี้ครึ่งปีแรกมีแรงกระตุ้นจากนโยบายรัฐบาล

ขณะที่ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงเศรษฐกิจในปี 2556 ว่า ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯคาดการว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 4.5 % ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.0-2.3 % และ มาตรการกระตุ้นของรัฐบาลโดยเฉพาะนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รวมถึงโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่จะเริ่มเปิดประมูลในช่วงต้นปี ( 2556) จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในช่วงครึ่งปีแรกกว่า 150,000  ล้านบาท

ขณะที่ภาคการส่งออกของไทย ดร.ธนวรรธน์ ยังเชื่อว่าน่าจะขยายตัวได้ที่ 6-8 % โดยเฉพาะการส่งออกในตลาดคู่ค้าหลักอย่าง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และ ยุโรป การส่งออกน่าจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ตลาดในอาเซียนและเอเชีย โดยเฉพาะตลาดประเทศจีนมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี หรือ ตลาดอาเซียนอย่างลาว พม่า กัมพูชา มูลค่าการค้าขายชายแดนก็เพิ่มมากขึ้น

<"">
<"">

<"">
<"">

5 สินค้าดาวรุ่ง-ดาวร่วงในปี 2556

สินค้าดาวรุ่งในปี 2556 1.ธุรกิจบริการทางการแพทย์ และยา 2. สถานีบริการและจำหน่ายก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) 3. สถาบันการเงิน 4.กระดาษและ  5.ธุรกิจเคมีภัณฑ์

สินค้าดาวร่วง 1.สิ่งทอ 2. สถานบันเทิงขนาดเล็ก 3.เครื่องหนัง  4.อาคารสำนักงาน และ 5.บ้าน ทั้งนี้ การประเมินดังกล่าว ประเมินจากยอดขาย ความสามารถในการควบคุมต้นทุน กำไร และการรับแรงกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัว 4-5 %

หวังตลาดใหม่ฟื้นส่งออกไทยโต 6-7 % ปี 56

ขณะที่ความล้มเหลวด้านการส่งออกของไทย จากข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์เผยยอดการค้าระหว่างประเทศพบว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค.2555 มีมูลค่าการค้ารวม 12,402,990.40 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 5,943,966.2 ล้านบาท และ นำเข้ามูลค่า 6,459,024.2 ล้านบาท ทำให้ไทยขาดดุลไปแล้ว 515,058 ล้านบาท

ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้า ( 2556) อาจจะกระเตื้องขึ้นย่อมส่งผลให้การส่งออกไทยเพิ่มตามไปด้วย เพราะตลาดใหม่ที่น่าสนใจทั้ง จีน ตะวันออกกลาง และ อาเซียน ล้วนมีมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะตลาดจีนที่ตอนนี้ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 12-13 % แล้ว

ส่วนตลาดส่งออกหลังอย่าง สหรัฐฯ ยุโรป คาดว่า จะยังทรงตัวต่อไปไม่เพิ่มขึ้นมาก แต่การส่งออกไปญี่ปุ่นไปได้ดีเหมือนเดิม 

ตอนนี้เราน่าหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศในเอเชียด้วยกันมากขึ้น เพราะหลายประเทศเหล่านี้มีกำลังซื้อ และ ต้องการสินค้าจากไทย เพียงแต่ต้องวางแผนการเจาะตลาดให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ฯ กล่าวยืนยัน

ข้อมูลบีโอไอ 10 เดือนยอดลงทุนทะลุ 7 แสนล้าน

การภาคการลงทุนของไทยในรอบปี 2555 ที่ผ่านมาพบว่า ตัวเลขการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) พบว่า การลงทุนในปี 55 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค.ได้อนุมัติผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว 1,890 รายมากกว่าปีที่ 54 ในช่วงเดียวกันมีที่ผู้มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพียง 1,273 ราย ขณะที่ยอดการลงทุนตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค.พบว่า มียอดการลงทุน 773,200 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันเมื่อเปรียบกับปีที่แล้ว 54 ที่มียอดการลงทุนเพียง 278,200 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังพบว่า นักลงทุนต่างรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอันดับหนึ่งยังเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น โดยพบว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค.2555 พบว่า มีนักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในประเทศไทยจำนวน 648 โครงการ ซึ่งมากกว่าปีที่ 54 ในช่วงเดียวกันที่มียอดจำนวนโครงการเพียง 366 โครงการเท่านั้น ซึ่งการลงทุนในปีนี้ทำให้เกิดการจ้างงานไปแล้วกว่า 199,047 คน

BOI เผยแผนระยะยาว 2556- 2560 ดึงดูดนักลงทุนเข้าไทย

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงทิศทางการทำงานของบีโอไอในช่วง 5 ปี จากนี้ (2556-2560) จะมีการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยจะมุ่งเน้นการดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง พลังงานทดแทน ท่องเที่ยวและสุขภาพ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์

ขณะเดียวกันแนวนโยบายที่จะปรับปรุงไปจากเดิมจะครอบคลุมใน 6 ด้าน ได้แก่

1.การปรับปรุงประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนใหม่เพื่อให้สอดรับกับทิศทางการลงทุนในปัจจุบัน 2.การลดสิทธิพื้นฐาน และเพิ่มสิทธิประโยชน์หากมีการลงทุนเพิ่มในเรื่องของการวิจัย และพัฒนา และการดูแลสิ่งแวดล้อม 3.การยกเลิกระบบให้สิทธิประโยชน์ตามเขตที่ตั้ง โดยหันไปมุ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเฉพาะกลุ่ม ในแต่ละภาคและพื้นที่ชายแดน 4.ปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ เน้นอำนวยความสะดวกผ่านสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษีและบริการที่ครบวงจร 5.ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ และ 6.การกำหนดให้มีตัวชี้วัดและเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อสามารถวัดผลและประสิทธิภาพความคุ้มค่าของการส่งเสริมการลงทุนได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง