“สุขุมพันธ์” เตรียมยื่นเรื่องให้ศาล ตรวจสอบ “ธาริต” กรณี “บีทีเอส”

อาชญากรรม
3 ม.ค. 56
04:11
69
Logo Thai PBS
“สุขุมพันธ์” เตรียมยื่นเรื่องให้ศาล ตรวจสอบ “ธาริต” กรณี “บีทีเอส”

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า หลังได้รับหนังสือเชิญเข้ารับทราบข้อกล่าวหา กรณีการต่อสัมปทานบีทีเอสอย่างเป็นทางการ จะยื่นเรื่องต่อศาลให้ตรวจสอบอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าได้กระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายในการตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่

จากกรณีที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงมติคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ในการออกหนังสือเชิญ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมพวกรวม 11 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหา กรณีที่ กทม. ทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสให้ ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง รถไฟฟ้าบีทีเอส 3 เส้นทาง ผ่านบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด มูลค่า 190,000 ล้านบาท

ซึ่งประเด็นที่มีการแถลงของกรมสอบสวนคดีพิเศษ คือ กทม.ทำผิดตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 พ.ศ.2515 ที่ระบุให้การประกอบกิจการรถราง หรือได้รับสัมปทาน จะต้องดำเนินการโดยอำนาจของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น

ทั้งนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า เดิม กทม.ได้มีการจัดทำสัญญาสัมปทาน กับบริษัท บีทีเอส มีระยะเวลา 30 ปี สัมปทานจะสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2572 ซึ่งสัญญาสัมปทานนี้ได้รับอนุญาต หรือ ได้รับสัมปทานจาก รมว.มหาดไทย

แต่ต่อมา กทม.ได้ดำเนินการต่อสัญญาในส่วนต่อขยายเพิ่มเติมอีก 3 เส้นทาง ซึ่งเป็นการดำเนินการที่อยู่นอกเหนือจากขอบเขตตามสัญญาสัมปทานเดิม และได้ว่าทำสัญญาจ้าง บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 30 ปี

ซึ่งบริษัทกรุงเทพธนาคม ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บีทีเอส อีกทอดหนึ่ง เพื่อให้ให้บริการเดินรถ บริการซ่อมบำรุงและบริการเก็บเงินค่าโดยสารในเส้นทางสัมปทานเดิมหลังสิ้นสุด ระยะเวลาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 17 ปี และเส้นทางส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 จึงมีมติให้ทำหนังสือเชิญผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 11 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 9 มกราคมนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 น.-15.00 น.

การตีความของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในข้อกฏหมายตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 แตกต่างจากสิ่งที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และทีมกฎหมายของ กทม. ยืนยันมาโดยตลอด คือ สิ่งที่ กทม.ดำเนินการทั้งหมดนั้น ไม่ใช่การต่อสัญญาสัมปทาน แต่เป็นสัญญาว่าจ้างโดยใช้ทรัพย์สินของกทม. ซึ่งรายได้ทั้งหมดของโครงการจะตกเป็นของ กทม. เป็นการดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ของ กทม.อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อ้างว่า ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 281 และมาตรา 283 ตลอดจน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 และพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ที่ให้อำนาจในการดำเนินการกับ กทม.

ส่วนกรณี ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 นั้น มีคำยืนยันว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัย ในหลายเรื่องหลายครั้งว่า กิจการที่กำหนดตามประกาศของคณะปฎิวัติ รวมทั้งกิจการการเดินรถรางนั้น ใช้บังคับเฉพาะกรณีการอนุญาตหรือการให้สัมปทานแก่เอกชนเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยืนยันด้วยว่า หลังได้รับหมายเรียกเป็นลายลักษณ์อักษรจากกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้ว กทม.จะส่งเรื่องให้ศาลยุติธรรมตรวจสอบว่า การดำเนินการของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะถือว่าเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 200 ซึ่งระบุถึงการทำหน้าที่โดยมิชอบ

และหากกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะเสนอให้กระทรวงมหาดไทยบอกเลิกสัญญา ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง