เศรษฐกิจไทยปี 56 ภายใต้แรงกดดันสหรัฐฯ-ยุโรป

เศรษฐกิจ
6 ม.ค. 56
13:48
363
Logo Thai PBS
เศรษฐกิจไทยปี 56 ภายใต้แรงกดดันสหรัฐฯ-ยุโรป

เศรษฐกิจไทยในปี 2556 นักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า จะถูกกดดันจากการฟื้นตัวที่เปราะบางของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาต่างๆ ยังคงยืดเยื้อ โดยเฉพาะหนี้สาธารณะในยุโรปและหน้าผาทางการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งความรุนแรงของปัญหาเหล่านี้ สะท้อนได้อย่างชัดเจนจากตัวเลขการส่งออกของไทย ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายเมื่อปีก่อน โดยนักวิเคราะห์หลายสำนักได้ปรับลดประมาณการส่งออกลง จนเหลือตัวเลขเพียงหลักเดียวในช่วงปลายปี จากตัวเลขระดับ 2 หลักในช่วงต้นปี กลไกหลักทางเศรษฐกิจในปีนี้ จึงอยู่ที่การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วยวงเงินก้อนใหญ่ที่มากกว่า 2 ล้านล้านบาท รวมถึงเงินกู้ค้างเบิกจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนในปีนี้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนจำนวนมหาศาลในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังอ่อนแออาจกลายเป็นปัญหาได้

ภาวะเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2555 นับเป็นอีกปีหนึ่งที่ทั่วโลกต้องจดจำ จากเหตุการณ์ในช่วงครึ่งปีแรกที่วิกฤตหนี้สาธารณะของยูโรโซนลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ยูโรโซนกำลังจะล่มสลาย ส่วนช่วงปลายปีส่งท้ายด้วยวิกฤตด้านการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาที่ระบบเศรษฐกิจต้องการเม็ดเงินอัดฉีดอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 2 มกราคม 2556 เศรษฐกิจโลกขานรับข่าวดี เมื่อสภาคองเกรสอนุมัติร่างกฎหมายแก้ปัญหาด้านการคลังของสหรัฐฯ ขณะที่กลุ่มยูโรโซนได้สร้างความเชื่อมั่น ด้วยการจัดตั้งสหภาพการธนาคารยูโรโซนและสหภาพการคลังยุโรป นักวิเคราะห์จึงเชื่อว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2556 จึงอาจไม่เลวร้ายอย่างที่คาดการณ์ไว้

นโยบายเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ของรัฐบาลปัจจุบัน เน้นการอุปโภคและบริโภคภายในค่อนข้างมาก จนกลายเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจปี 2555 ให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น ซึ่งในปีนี้คนไทยยังคงฝากความหวังไว้ที่การทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์โลกที่เปราะบาง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในที่สุด

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า แนวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ต้องเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ แต่ยืนยันว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลจะไม่มีผลต่อระดับหนี้สาธารณะ ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้ สำนักวิจัยส่วนใหญ่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 - 5.5 ต่อปี และปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดคือเศรษฐกิจโลก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง