ผู้ประกอบการต่างจังหวัด ลดสวัสดิการ อ้างผลกระทบขึ้นค่าจ้าง

เศรษฐกิจ
9 ม.ค. 56
05:50
81
Logo Thai PBS
ผู้ประกอบการต่างจังหวัด ลดสวัสดิการ อ้างผลกระทบขึ้นค่าจ้าง

ผลพวงจากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดเริ่มปรับลดสวัสดิการต่างๆ ที่เคยให้กับพนักงาน ขณะที่โรงงานบางแห่งที่ต้องขึ้นค่าจ้างเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ได้ปิดกิจการลง และย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

โรงงานผลิตชุดกีฬาแห่งหนึ่่ง ในอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ติดป้ายประกาศขายหรือ ให้เช่าโกดัง หลังโรงงานแห่งนี้ได้ปิดกิจการ ไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยเจ้าของกิจการ เปิดเผยว่า ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน หลังได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างร้อยละ 40 เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ทำให้แรงงานกว่า 1,000 คนตกงาน

ขณะที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดมหาสารคาม ระบุว่า ผู้ประกอบการโรงงานดังกล่าว จ่ายเงินชดเชยเยียวยาแล้ว ส่วนกระทรวงแรงงาน ได้ทยอยจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ประกันตนแล้วเกือบ 1,000 คน วงเงินกว่า 5 ล้านบาท

ส่วนที่จังหวัดชัยภูมิ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง ได้ยุบสาขาไปรวมกับสาขาอำเภอหนองบัวแดง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ทำให้แรงงานกว่าร้อยคน ต้องเดินทางไปทำงานที่สาขาหนองบัวแดง รวมระยะทางไป-กลับกว่า 100 กิโลเมตร ทำให้บางคนตัดสินใจลาออก เพราะไม่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างอำเภอ

ขณะที่สถานประกอบการในจังหวัดอุดรธานีเช่น โรงงานผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์ งดสวัสดิการพิเศษให้กับพนักงานและลูกจ้าง เช่น เบี้ยขยัน , ค่าอาหารกลางวัน , เลื่อนการขึ้นเงินเดือนประจำปี

ทั้งนี้บริษัทอ้างว่า ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากการปรับขึ้นค่าจ้างเดือนละกว่า 1 ล้านบาท ส่วนที่จังหวัดสงขลา ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เริ่มได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งมีพนักงานระดับล่าง

ด้าน นายสุรพล กำพลานนท์วัฒน์ นายกสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา เชื่อว่า ผู้ประกอบการอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ในการปรับตัว ขณะที่ทางออกเฉพาะหน้าที่ผู้ประกอบการนำมาใช้ คือ การเลิกจ้างงาน หรือการปรับเพิ่มค่าสินค้า และบริการ เช่น เพิ่มค่าบริการในการจัดเลี้ยง หรือค่าอาหารในประชุมสัมมนา จึงอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือเพื่อลดภาระที่เกิดขึ้น


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง