ผู้ประกอบการหลายรายปรับแนวทางการบริหารสอดรับขึ้นค่าเเรง 300 บาท

เศรษฐกิจ
9 ม.ค. 56
14:13
49
Logo Thai PBS
ผู้ประกอบการหลายรายปรับแนวทางการบริหารสอดรับขึ้นค่าเเรง 300 บาท

ยังไม่มีความชัดเจนว่าสาเหตุของการเลิกจ้าง หรือปิดกิจการหลายแห่งในขณะนี้ เป็นผลมาจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพราะยังมีสถานประกอบการหลายแห่งที่ปรับขึ้นค่าจ้างตามนโยบาย แต่ปรับแนวทางการบริหารจัดการใหม่ด้วยการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และเพิ่มศักยภาพพนักงาน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต มาทดแทนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น

ข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์ การเลิกจ้างงานตั้งเเต่เดือนกรกฎาคม-เดือนธันวาคม ปี 2555 ของกรมสวัสดิการเเละคุ้มครองเเรงงาน ที่ระบุว่า มีสถานประกอบการปิดกิจการถึง 76 เเห่ง ส่งผลให้พนักงานถูกเลิกจ้างมากถึง 10,696 คน นอกจากนี้ยังมีสถานประกอบการอีก 39 เเห่ง ที่มีเเนวโน้ม ว่าในปีนี้อาจต้องปิดกิจการเพิ่มเติมอีก การปรับขึ้นค่าเเรงขั้นต่ำ 300 บาท จึงประเด็นที่ทำให้หลายฝ่าย ออกมาตั้งคำถามถึงนโยบายนี้ว่า นี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สถานประกอบการหลายเเห่ง ปิดกิจการลงหรือไม่

จากนโยบายข้างต้น ทำให้หลายบริษัทต้องปรับตัว เเละกำหนดทิศทางการบริหารจัดการใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงการเพิ่มศักยภาพพนักงาน เเละการเพิ่มอัตราการผลิตให้สูงขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหวังที่จะชดเชยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อได้

เเม้ว่าผู้ประกอบการหลายราย จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายขึ้นค่าเเรง 300 บาท เเต่สำหรับพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานระดับล่าง ที่ได้รับค่าจ้างเเบบรายวัน พวกเขากลับมองว่า นี่เป็นสิ่งที่ภาครัฐมองเห็นปัญหา เเละเข้าใจความเดือดร้อนของผู้ใช้เเรงงาน การปรับขึ้นค่าเเรงในครั้งนี้ จึงถือเป็นเเรงขับเคลื่อนหนึ่ง ที่จะช่วยให้พวกเขามีกำลังใจทำงานต่อไปได้

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้่นต่ำ 300 บาท เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สถานประกอบการหลายเเห่ง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ปิดกิจการ ลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับกระทรวงเเรงงานที่ให้เหตุผลว่า อาจเร็วเกินไปที่จะระบุได้ว่าเกิดจากการขึ้นค่าเเรง 300 บาท

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ ไม่เพียงกระทบต่อพนักงานระดับล่าง เพราะแม้แต่พนักงานระดับสูงก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย เนื่องจากทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของพนักงาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับค่าจ้างเพิ่มให้กับพนักงานระดับสูงร่วมด้วย ขณะที่มีผู้ประกอบการหลายราย ไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะเห็นว่าสวัสดิการที่มีอยู่ คุ้มค่ากว่าค่าจ้าง 300 บาท ซึ่งการไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง จะเข้าข่ายความผิดกฏหมายคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 3 ปี2551 มีโทษปรับ 100,000 บาท และจำคุก 6 เดือน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง