"โนอา" ระบุ พายุสุริยะไม่ส่งผลให้ไฟดับ ในพื้นที่แคนาดา - อลาสก้า

Logo Thai PBS
"โนอา" ระบุ พายุสุริยะไม่ส่งผลให้ไฟดับ ในพื้นที่แคนาดา - อลาสก้า

กระแสข่าวดวงอาทิตย์พ่นมวลโคโรน่าออกมายังโลก ซึ่งมีการอ้างว่าจะทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง ทำให้บางคนตื่นตระหนกว่าโลกจะรับผลกระทบรุนแรง แต่จากข้อมูลขององค์การนาซ่าที่เผยแพร่ออกมาระบุว่า การพ่นมวลโคโรน่าครั้งนี้ ไม่ส่งผลกระทบรุนแรง

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ องค์การนาซ่า เผยแพร่คลิปวิดีโอและภาพนิ่ง พร้อมข้อมูลเกี่ยวกับ การพ่นมวลโคโรน่าของดวงอาทิตย์ หรือ CME เมื่อวันที่ 23 มกราคม จำนวน 2 ลูก โดยลูกแรก ไม่มีทิศทางพุ่งตรงมายังโลก ส่วนลูกที่สอง มีแนวโน้มจะพุ่งมายังโลก แต่ไม่ส่งผลกระทบรุนแรง โดยลูกที่สองนี้มีความเร็ว 375 ไมล์ต่อวินาที ซึ่งช้ากว่า CME ที่เร็วที่สุด 10 เท่า ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางมาถึงโลกประมาณ 1 ถึง 3 วัน
 
การพ่นมวลโคโรนา หรือ CME คือ ก้อนพลาสมาขนาดมหึมาที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมา ซึ่งมาพร้อมกับสนามแม่เหล็กที่แปรปรวน ทำให้สนามแม่เหล็กโลก มีรูปร่างบิดเบี้ยวและถูกรบกวนอย่างรุนแรง จนบางส่วนเปิดออก และยอมให้อนุภาคพุ่งมาตามเส้นแรงแม่เหล็ก เข้าสู่บริเวณขั้วโลก เกิดเป็นแสงออโรรา หรือแสงเหนือแสงใต้ขึ้น และสนามแม่เหล็กโลกมีความเข้มลดลงชั่วคราวเรียกว่า พายุแม่เหล็กโลก ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำโดยสนามแม่เหล็ก ซึ่งอาจไหลเข้าสู่ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับได้
 
สำหรับการจัดระดับความรุนแรงของพายุแม่เหล็กโลกมีถึง 5 ระดับ คือ G1 - G5 ซึ่ง G1 ส่งผลให้ไฟฟ้ารวน แต่ไม่ไฟดับ ส่วน G2 ขึ้นไปทำให้ไฟฟ้าดับ
 
ส่วนการพ่นมวลโคโรน่าครั้งนี้ จากข้อมูลการเตือนสภาพอวกาศขององค์การมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ หรือ โนอา ระบุว่าอยู่ในค่าทางฟิสิกส์ K 4 เท่านั้น ซึ่งยังไม่ถึงระดับ G1 ดังนั้นการเกิดกระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำ อาจมีแบบอ่อนๆ และส่งผลต่อระบบสายส่งไฟฟ้ากำลังเล็กน้อย คือไม่ส่งผลให้เกิดไฟดับ และอาจมีแสงออโรร่า บริเวณละติจูดสูงๆ เช่น แคนาดา และอลาสกา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง