โอไอซีลงพื้นที่ชายแดนใต้รับฟังปัญหาความไม่สงบในพื้นที่

ภูมิภาค
1 ก.พ. 56
03:44
82
Logo Thai PBS
โอไอซีลงพื้นที่ชายแดนใต้รับฟังปัญหาความไม่สงบในพื้นที่

การลงพื้นที่พบปะผู้นำศาสนา และติดตามสถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะ OIC ประจำประเทศไทย เมื่อวานนี้ นับว่าเป็นความร่วมมือกับอีกหนึ่งองค์กรในการแก้ปัญหาความรุนแรง โดยจากการชี้แจงของเจ้าหน้าที่ ทำให้คาดได้ว่า OIC จะเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาของไทย

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเอกอัครราชทูต และผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ประจำประเทศไทย รวม 15 คน เยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพบปะผู้นำศาสนา เพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ พร้อมรับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวในพื้นที่ และความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาในพื้นที่ ซึ่ง รัฐบาลตั้งใจจะทำให้นานาประเทศตระหนักและเข้าใจถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลใน การแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง

ด้านหน่วยงานด้านความมั่นคง ยืนยันกับที่ประชุมร่วมเอกอัครราชทูต OIC ว่า รัฐได้ใช้กฎหมายพิเศษเท่าที่จำเป็นและไม่เคยเลือกปฏิบัติว่าผู้ที่ถูกเชิญตัวมาสอบสวนจะนับถือศาสนาใด แต่เพราะผู้ก่อเหตุมักปฏิบัติการในทางลับ และมีผู้เกี่ยวข้องหลายคนจึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการสอบสวน แต่ในบางพื้นที่ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย อย่างในสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าก็ได้ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษไปแล้ว

ส่วนข้อมูลที่หน่วยงานด้านความมั่นคง พยายามนำเสนอไปยังตัวแทนของโอไอซี คือ การตั้งเป้าหมายว่าอีก 2 ปีข้างหน้า จะมีการปรับลดกำลังหลักในพื้นที่ ให้เหลือ 9 กองพัน และจะทยอยถอนกำลังบางส่วน 3 กองพันในปีนี้ โดยจะส่งคืนพื้นที่ให้ตำรวจ และอาสาสมัครรักษาดินแดนดูแล รวมถึงการเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งจากสถานการณ์ความรุนแรง หรือจากการกระทำของรัฐ โดยเฉพาะกรณีมัสยิดกรือแซะ และกรณีการสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ สร้างความพอใจให้สมาชิก OIC

โดยเอกอัครราชทูตประเทศตุรกี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า พอใจในแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการเดินหน้าพูดคุยสันติภาพ ซึ่งเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะยุติความรุนแรง จึงมีความเป็นไปได้ว่า การทำข้อตกลงร่วมของโอไอซีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ในเนื้อหาเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจเป็นผลบวกต่อทางการไทย

ทั้งนี้ โอไอซีมีสมาชิกทั้งหมด 57 ประเทศ โดยไทยอยู่ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ แต่ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัด ถูกจับตามองจาก OIC มากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นของการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือ การเลือกปฏิบัติ แต่ทางการไทยก็พยายามอย่างเต็ม ที่จะชี้แจงถึงข้อกล่าวหาเหล่านี้ ว่าไม่ได้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง