ส.โทรทัศน์ดาวเทียม หวั่น กลุ่มทุนใหญ่ส่ง"นอมิมี" กวาดสิทธิ์ถือครองทีวีดิจิตอล 24 ช่องธุรกิจ

เศรษฐกิจ
4 ก.พ. 56
05:45
69
Logo Thai PBS
ส.โทรทัศน์ดาวเทียม หวั่น กลุ่มทุนใหญ่ส่ง"นอมิมี" กวาดสิทธิ์ถือครองทีวีดิจิตอล 24 ช่องธุรกิจ

เสนอกสทช.เพิ่มราคาประมูลช่องที่ 2 อีกเท่าตัว ด้าน GMM ดันขอช่อง HD เพิ่ม พร้อมขอกสทช.กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน

 ภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่าหลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสท.) ของกสทช. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับ"แนวทางการกำหนดเพดานจำนวนช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล" เพื่อให้เกิดการแข่งขันในกิจการโทรทัศน์ภาคธุรกิจ เมื่อวานนี้ โดยมีตัวแทนผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์,ผู้แทนสมาคมเคเบิ้ลทีวี,สมาคมดาวเทียม, ผู้ผลิตรายการ และฝ่ายกสทช.เข้าร่วม เพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับ กำหนดจำนวนพดานช่องรายการว่า แต่ละรายจะครอบครองช่องรายการได้สูงสุดกี่ช่อง 

 
ทั้งนี้ รูปแบบทีวีดิจิตอล กสทช.กำหนดให้มีทั้งหมด 48ช่อง ในจำนวนนี้ เป็นช่องธุรกิจ 24 ช่องที่ต้องนำไปประมูลแข่งขัน และหากพิจารณาเฉพาะช่องธุรกิจ จะแบ่งเป็นช่องรายการทั่วไป 14ช่อง, ข่าวสาร 5ช่อง และช่องเด็กและครอบครัว 5ช่อง ซึ่งกสทช.วางเกณฑ์คร่าวๆ ก็ถือครองได้ไม่เกิน 2 หรือ 3 ช่อง เพื่อต้องการให้เกิดการแข่งขัน แต่ก็ยังมีความเห็นหลากหลายจากผู้ประกอบการ
 
โดยผู้ประกอบรายกลาง และรายเล็ก ต้องการให้ถือครองได้เต็มที่ 2 ช่อง เพื่อให้เกิดความหลากหลาย ขณะที่บางคนเห็นว่า ผู้ที่ประมูลใน"ช่องทั่วไป"แล้ว ก็ไม่ควรประมูล"ช่องข่าว" เพราะอาจทำให้เกิดการครอบงำทางความคิดมากเกินไป เช่น รายการเล่าข่าวที่มีในปัจจุบัน
 
นายนิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียมแห่งประเทศ เป็นห่วงว่า การผูกขาด อาจเกิดขึ้นจากบริษัทใหญ่ ตั้งบริษัทลูก หรือ นอมินี มาแข่งขัน และทำให้เกิดการผูกขาด รวมทั้งหากได้ทีมงานผลิตรายการที่ไม่มีประสบการณ์ ก็จะส่งผลให้ผลิตรายการที่ไม่มีคุณภาพ หรืออีกแนวทางคือ กสทช.ต้องเพิ่มราคาประมูล ช่องที่ 2 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานอมินีจำนวนมาก และ กสทช.ควรประกาศคุณสมบัติ ให้ชัดเจนก่อนประมูล
 
"ถ้าเราคุมด้วยราคาได้ไหม เช่น ถ้าได้ช่องนึงแล้ว หากจะประมูลช่องที่ 2 ก็เข้ามาประมูลก็ได้ แต่ราคาก็ต้องเพิ่มอีกหนึ่งเท่า หากจะเอาช่องที่ 3 อีก ก็ต้องเพิ่มอีกเท่า หากมีเช่นนี้ เราจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานอมินีได้อย่างไร รวมทั้งคุณภาพของผู้ผลิตหลังจากประมูลด้วยว่า จะเหลือกลุ่มที่เป็นมืออาชีพกี่ราย และการประกิจการในทุกวันนี้ มีมืออาชีพอยู่มากน้อยเพียงใด ซึ่งหลักเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ กสทช.ต้องทำให้เกิดความชัดเจน"นายพิพนธ์ กล่าว
 
ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างแกรมมี่ มองว่า กสทช.ไม่ควรสร้างเงื่อนไขเกี่ยวกับบริษัทลูก และควรเปิดให้ทุกรายแข่งขันได้เต็มที่โดยไม่จำกัดช่องรายการ เพราะความที่เป็นบริษัทใหญ่ จึงต้องตั้งบริษัทลูกมาดำเนินการ แต่การผลิตรรายการ เนื้อหา หรือ คอนเท้นท์จะแตกต่างกัน โดย นางจิตรลดา เฮงยศมาก ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกฎหมายและรัฐกิจสัมพันธ์ ระบุว่า กสทช.ควรเปิดสิทธิ์การถือครองได้อย่างอิสระ ไม่ควรกำหนดช่องรายการ เพราะผู้ประกอบการต้องพิจารณาตั้งแต่ทุนการลงทุน การนำเสนอเนื้อหาที่จะต้องผลิต และอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาร่วม จะเป็นตัวบอกได้ว่าจะลงทุนกี่ช่อง แต่ไม่ใช่สิ่งที่กสทช.มากำหนดหรือทำให้เกิดข้อจำกัด 
 
"ความเหมาะสมการทำธุรกิจ จะเป็นตัวที่ตอบโจทย์ว่าเรามีความสามารถที่ทำได้กี่ช่อง ซึ่งผู้ประกอบการที่เป็นโปรดักชั่นเฮ้าท์ ไม่ได้มีเฉพาะจีเอ็มเอ็ม แต่มีทั้งรายใหญ่และเล็ก กสทช.ควรเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันที่มีคุณภาพ แต่รายใหญ่อาจมีประสบการณ์และเคยผลิตรายการที่ออกอากาศมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เพราะบริษัทใหญ่ก็ต้องผลิตรายการที่ตอบสนองคนดูได้ โดยองค์กรที่ใหญ่ ก็จำเป็นต้องแยกบริษัทออกเป็นบริษัทลูก เพื่อผลิตงานที่มีความชำนาญแตกต่างกัน และควรมีเวทีที่แสดงออกหลากหลาย ไม่ควรปิดกั้นว่า หากทำช่องข่าวแล้ว จะทำช่องทั่วไปไม่ได้ เพราะสุดท้ายจะต้องถูกจัดกลุ่มว่ารายการของบริษัทจะเป็นประเภทไหน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสับสน "นางจิตรลดา กล่าว
 
วันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง หรือ บอร์ด กสท. ของกสทช. จะหารือเพื่อสรุปหลักเกณฑ์การประมูล, คุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล ว่ามีคุณบัติต้องห้ามใดบ้าง ส่วนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ จะได้ข้อสรุปเรื่องหลักเกณฑ์การประมูลช่องรายการว่าจะถือครองได้รายละกี่ช่อง โดยภาพรวมหลักเกณฑ์ต่างๆ จะมีความชัดเจนได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง