ปัญหาสร้างโรงพักไม่เสร็จ

4 ก.พ. 56
14:00
304
Logo Thai PBS
ปัญหาสร้างโรงพักไม่เสร็จ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีมติจะไม่ต่อสัญญากับบริษัทผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง หลังได้เชิญผู้รับเหมามาชี้แจงถึงแผนการทำงาน แต่ไม่มีแผนการทำงานมาเสนอ ขณะที่ผู้รับเหมาอ้างเคยร้องเรียนถึงการรวมสัญญา ทำให้งานก่อสร้างล้มเหลว จากการตรวจสอบสัญญาพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงการทำสัญญา 2 ครั้ง ในสมัยของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ

สัญญาโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ เริ่มในสมัยพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอจัดทำสัญญาแบบรายภาค ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบ และเซ็นอนุมัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552

หลังจากนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท มีคำสั่งไปช่วยราชการ เมื่อในเดือนกันยายน 2552 ทำให้โครงการนี้หยุด  แต่ในสมัย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เริ่มดำเนินโครงการต่ออีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงสัญญา จากแยกรายภาค เป็น รวมสัญญาเดียวทั่วประเทศ

โดยวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552  บริษัทผู้รับเหมา 8 แห่ง มีหนังสือร้องเรียน เรื่องการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เรื่องทบทวนการเปลี่ยนแปลงสัญญา โดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสัญญา เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้างรายเดียว และขัดกับหลักความจริง

ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 นายสุเทพ อนุมัติให้เปิดการประมูลแบบสัญญาเดียว ตามพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น เสนอมา และมีเปิดประมูลด้วยวิธีทางอิเล็คทรอนิค เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 ซึ่งบริษัทพีซีซี ดีเวลลอปเม้นต์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเป็น 1 ในผู้คัดค้านการทำแบบสัญญาเดียวทั่วประเทศ เป็นผู้ชนะการประมูล ในวงเงิน 5,848 ล้านบาท

นอกจากนี้ มีข้อสงสัย ถึงสาเหตุของการเข้าร่วมประมูลของบริษัทพีซีซี และบริษัทอื่นรวม 8 แห่ง ซึ่งคัดคานว่าไม่สามารถทำงานได้จริง  นอกจากนี้ ทางบริษัท ชี้ว่า ที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างแฟลตตำรวจดำเนินงาน แม้จะล่าช้า 3 ปี

ล่าสุดสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีมติ ไม่ต่อสัญญาโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งกับบริษัทพีซีซี หลังทำงานล่าช้า และต้องหยุดชะงักร้อยละ 90

ขณะที่ร.ต.อ.เฉลิมอยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความผิดเรื่องนี้ มี 2 ส่วน คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ ฮั้วประมูล คือ ฝ่ายการเมืองเกี่ยวข้องต้องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตรวจสอบ ถ้าเป็นการฉ้อโกงทรัพย์ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบ ซึ่งในวันนี้ (4 ก.พ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง