ปชป.เรียกร้องดีเอสไอสอบ "เพรียวพันธ์-อดุลย์" ปมสร้างโรงพัก

การเมือง
9 ก.พ. 56
13:23
151
Logo Thai PBS
ปชป.เรียกร้องดีเอสไอสอบ "เพรียวพันธ์-อดุลย์" ปมสร้างโรงพัก

ปัญหาการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง ทั่วประเทศ กำลังกลายเป็นประเด็นทางการเมือง ต่อเนื่องจากการตรวจสอบโครงการที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ วันนี้ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยข้อมูลเพื่อโต้แย้งการสอบสวนของดีเอสไอ ขณะที่รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ก็ยืนยันว่า อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จะปฎิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

เหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือน ก็จะครบกำหนดสัญญาการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศแล้ว ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า โครงการนี้หยุดชะงักมาตั้งแต่กลางปี 2555 สำนักงานส่งกำลังบำรุง ระบุถึงความคืบหน้าการก่อสร้างของบริษัทผู้รับเหมาว่า ได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 280 หลัง แต่ยังไม่มีหลังใดก่อสร้างแล้วเสร็จ ส่วนอีก 116 หลัง ยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง

ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพุ่งเป้ามาที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะเป็นผู้กำกับดูแล และอนุมัติสัญญาที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหายกว่า 1,500 ล้านบาท แม้จะมีการชี้แจงจากนายสุเทพแล้ว แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษยังยืนยัน ว่านายสุเทพต้องรับผิดชอบ

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดเผยข้อมูลในวันนี้ว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพราะเป็นผู้อนุมัติร่างสัญญาการประมูล ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมติที่ประชุมครั้งนั้นสรุปให้ดำเนินการ โดยส่วนกลางและแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค 1-9 พร้อมทั้งเรียกร้องให้ตรวจสอบ
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติด้วย

ขณะที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาตอบโต้ถึงว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นในโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน ในฐานะที่ นายอภิสิทธิ์ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เป็นอดีตรองนายกรัฐนตรี ที่ผู้รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น คงจะปฎิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

มีบทความของนายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุถึงลักษณะที่อาจเข้าข่ายการสมยอมเสนอราคา หรือ ฮั้วประมูล ว่า มีหลายรูปแบบเช่น สมยอมราคา หรือ ที่รู้จักกันว่า ฮั้ว หรือมีข้อตกลงร่วมกันเสนอราคา เพื่อให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หลีกเลี่ยงการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือกีดกันมิให้มีเสนอสินค้าหน่วยงานของรัฐ เช่น กรณีมีผู้เสนอราคา 3 ราย แต่เสนอราคาทั้งหมดที่ตกลงกันว่า จะเสนอราคาเพื่อให้รายใดรายหนึ่งเป็นผู้ได้งานจัดฮั้วกัน โดยการให้หรือรับว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์เสนอราคา, บังคับให้ผู้อื่นจำยอม เสนอ หรือไม่เสนอราคา, หลอกลวงหรือทำให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าไปเสนอราคา, เสนอราคาต่ำหรือให้ผลประโยชน์สูงกว่าปกติ เป็นเหตุให้ปฏิบัติตามสัญญาไม่ได้ ทุจริตออกแบบกำหนดราคา กำหนดเงื่อนไข โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง