ย้อนเส้นทางอุตสาหกรรมอาหาร "ซีพี"

สังคม
11 พ.ค. 58
17:40
441
Logo Thai PBS
ย้อนเส้นทางอุตสาหกรรมอาหาร "ซีพี"

ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งรณรงค์ไม่ใช้บริการร้านสะดวกซื้อเซเว่น อิเลฟเว่น ซึ่งวันนี้ (11 พ.ค.2558) เป็นวันสุดท้ายของกิจกรรมดังกล่าว หากย้อนดูเส้นทางเกือบ 40 ปีในอุตสาหกรรมอาหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ พบว่าสาขาของซีพีไม่ได้แผ่ขยายแค่ในประเทศเท่านั้น

ข้อมูลจาก CPF WorldWide.com เว็บไซต์ทางการของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือ CPF ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยเส้นทางขององค์กรธุรกิจอุปโภคบริโภครายใหญ่ ย้อนกลับไปถึง 37 ปี โดยปี 2521 จดทะเบียนตั้งบริษัท ด้วยทุนเริ่มต้น 5,000,000 บาท

ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทถึงปี 2540 CPF ลงทุนธุรกิจเลี้ยงสัตว์ อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ จำหน่ายและแปรรูปเพื่อส่งออกและขยายการลงทุนไปประเทศจีน ภายหลังรัฐบาลคอมมิวนิสต์เปิดประเทศ โดยเริ่มธุรกิจร้านค้าปลีกเป็นครั้งแรกเมื่อร่วมทุนกับ วอลล์มาร์ท ห้างค้าปลีกสัญชาติอเมริกัน เมื่อปี 2538

ในปี 2531 บริษัท ซีพีออล ก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมขณะนี้ เมื่อร้านสะดวกซื้อภายใต้การบริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ถูกตั้งคำถามถึงอำนาจต่อรองเหนือตลาดและอำนาจทางธุรกิจที่เหนือกว่าผู้ประกอบการรายย่อย

ด้านนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้สัมภาษณ์นิตยสารฟอร์บส์ไทยแลนด์ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2556 ระบุว่า 7-11 ไม่ใช่คู่แข่งทางการค้ากับร้านค้าปลีกรายย่อย ซึ่งนี่อาจเป็นคำชี้แจงจากแม่ทัพเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่พยายามชี้ให้เห็นถึงการวางยุทธศาสตร์ร้านสะดวกซื้อแยกตลาดจากผู้ประกอบการรายย่อย อีกด้านหนึ่งก็อาจแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคอาจยากที่จะหลบเลี่ยงไม่ใช่สินค้าจาก CP

ตั้งแต่ปี 2540 CPF ขยายการลงทุนภายนอกประเทศอย่างชัดเจน อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งที่ประเทศอังกฤษเป็นฐานการผลิตป้อนสินค้าสู่ตลาดยุโรป ถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ลงทุนธุรกิจอาหารครบวงจรกว่า 8 ประเทศทั่วโลก

ไบโอไทย อ้างการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและเมล็ดพันธุ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ว่า มีสำนักงานใหญ่ใน 4 ประเทศ หากข้อมูลนี้เป็นจริงก็หมายความว่า อุตสาหกรรมทั้ง 4 ประเภทของ CP ล้วนมีส่วนแบ่งการตลาดที่โดดเด่นเหนือคู่แข่ง

นอกจากนี้ CPF ยังขยายอุตสาหกรรมการผลิตด้วยการซื้อบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ 12 แห่ง ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ เพาะพันธุ์สัตว์ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจากเนื้อสัตว์ เริ่มเห็นภาพยุทธศาสตร์การลงทุนครบวงจร หรือที่ถูกเรียกว่า ธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ตลอดเส้นทางเกือบ 40 ปี CP กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหาร ถูกผู้บริโภคบางกลุ่มตั้งข้อสงสัยถึงอำนาจทางตลาด เมื่อทรัพยากรและความพร้อมในอุตสาหกรรมการผลิตเหนือกว่าคู่แข่ง ไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่อาจรวมถึงอุตสาหกรรมอาหารระดับโลก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง