กระทรวงพลังงานเร่งถกรับมือวิกฤติพลังงาน คาด 19-20 ก.พ.รู้ผล

เศรษฐกิจ
19 ก.พ. 56
04:01
117
Logo Thai PBS
กระทรวงพลังงานเร่งถกรับมือวิกฤติพลังงาน คาด 19-20 ก.พ.รู้ผล

กระทรวงพลังงานเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือมาตรการรับมือวิกฤตพลังงาน ที่จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งอาจมีการพิจารณาดำเนินมาตรการดับไฟฟ้าแบบโซนนิ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าดับแบบกระจายตัว จนกลายเป็นปัญหาไฟฟ้าดับทั้งประเทศ คาดว่าภายในวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์นี้ น่าจะได้ข้อสรุป

ปริมาณความต้องการการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย หากจะเริ่มต้นพิจารณาย้อนหลังกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน ตั้งแต่ปี 2551-2555 แนวโน้มการใช้พลังงานไฟฟ้าของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งภาคครัวเรือน, กิจการขนาดใหญ่ รวมถึงส่วนราชการ แม้จะมีบางปีที่ส่วนราชการปรับลดลงบ้าง แต่ค่าเฉลี่ยยังคงเพิ่มขึ้น

ขณะที่อัตราการใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนเมษายน-กรกฎาคม ย้อนหลังกลับไป 2 ปี จะพบว่า แนวโน้มการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และในช่วงเดือนดังกล่าว ยังเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีการใช้ปริมาณไฟฟ้าสูงที่สุดในรอบปี

สำหรับปีนี้ การการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดการณ์ว่าการใช้ไฟฟ้าของไทยในช่วงฤดูร้อนจะพุ่งสูงสุด ทำสถิติใหม่อยู่ที่ประมาณ 27,000 เมกะวัตต์ หรือสูงขึ้น ร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปี 2555 อยู่ที่ระดับ 26,127 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจ และสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ประชาชนเกิดการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

จากตัวเลขที่เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความต้องการปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี ทำให้กระทรวงพลังงาน ออกมายืนยันถึงผลกระทบจากการหยุดจ่ายก๊าซจากแหล่งในพม่า ว่าไทยอาจประสบภาวะฉุกเฉินถึงขั้นเป็นวิกฤตพลังงาน โดยมีข้อมูลว่า การปิดซ่อมแท่นขุดเจาะในพม่า จะทำให้ก๊าซหายไปจากระบบ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า 6 โรงในฝั่งตะวันตก หรือ ทำให้กำลังผลิตหายไปอย่างน้อย 4,100 เมกะวัตต์

ข้อมูลวิกฤตพลังงานครั้งนี้ อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ และเคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาแล้วเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังคงไม่มีมาตรการระยะยาวที่จะเข้ามาควบคุมดูแล ซึ่งเบื้องต้น กฟผ.ได้เตรียมแนวทางแก้ปัญหา ด้วยการนำโรงไฟฟ้าน้ำมันเตา และน้ำมันดีเซล เดินเครื่องทดแทนโรงไฟฟ้าก๊าซที่หายไป เลื่อนแผนบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าทั้งหมดในช่วงหยุดผลิตก๊าซ และเร่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว 4 โรงให้เต็มที่ แต่ก็ยังยืนยันไม่ได้ว่า กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจะเพียงพอหรือไม่

นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน มองถึงวิธีการแก้ปัญหาในครั้งนี้ว่า หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้น้ำมันเตา และน้ำมันดีเซลมาผลิตไฟฟ้า ต้นทุนค่าไฟฟ้าจะเพิ่มเป็น 4 บาท และ 6 บาท หรือ 2-3 เท่าจากต้นทุนค่าไฟฟ้าปัจจุบัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะผลักภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่สูงกว่าปกติ ไปรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ เอฟที ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายเอง

ส่วนกำหนดการปิดซ่อมแหล่งผลิตก๊าซของพม่าทั้งในยาดานา และเยตากุน เป็นเวลา 9 วัน ตั้งแต่วันที่ 4-12 เมษายน นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันนี้(19 ก.พ.) หรือวันพรุ่งนี้ (20 ก.พ.) น่าจะมีผลสรุปในการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตในพม่า ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะเลื่อนกำหนดการดังกล่าวให้ออกไปอยู่ในช่วงวันสงกรานต์ซึ่งเป็นวันหยุดยาว

แต่เบื้องต้นมีรายงานว่า อาจมีการเลื่อนจากวันที่ 4 เมษายน ออกไปเป็นวันที่ 5 เมษายน ซึ่งแม้จะมีการเลื่อนเวลาออกไปเพียงวันเดียว แต่ก็จะมีผลต่อการจ่ายก๊าซเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะวันที่ 5 เมษายนเป็นวันศุกร์ซึ่งติดกับวันหยุดสุดสัปดาห์ อาจทำให้ปริมาณการใช้ลดน้อยลงกว่าวันที่ 4 เมษายนตามกำหนดเดิม

ส่วนแผนรับมือของกระทรวงพลังงานนั้น นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าหารือถึงมาตรการต่างๆ ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งนอกจากภาพรวมการแก้ปัญหาทางเทคนิค อาจมีการพิจารณาดำเนินมาตรการดับไฟฟ้าแบบโซนนิ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าดับแบบกระจายตัว จนกลายเป็นปัญหาไฟฟ้าดับทั้งประเทศ เพราะเชื่อว่า การรณรงค์ประหยัดไฟฟ้า พร้อมกันทั่วประเทศ อาจไม่สามารถช่วยประหยัดไฟฟ้าได้เพียงพอ เพราะที่ผ่านมา สามารถประหยัดไฟฟ้าลงได้แค่หลักร้อยเมกะวัตต์เท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง