อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ระบุ คำวินิจฉัยศาล รธน. อาจส่งผลต่อคดีนักธุรกิจซาอุฯ

อาชญากรรม
15 มี.ค. 56
03:17
119
Logo Thai PBS
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ระบุ คำวินิจฉัยศาล รธน. อาจส่งผลต่อคดีนักธุรกิจซาอุฯ

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ระบุว่า หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า การที่ศาลอาญาส่งประเด็นไปนำสืบพยานในต่างประเทศ กรณีคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย ตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็อาจส่งผลต่อคดีอื่นที่มีประเด็นไปสืบต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมายึดเอา พ.ร.บ.ฉบับนี้ในการดำเนินการมาโดยตลอด

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคำโต้แย้งของ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ จำเลยที่ 1 คดีร่วมกันอุ้มฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย โดยคัดค้านคำสั่งศาลอาญา ที่อนุญาตให้ส่งประเด็นไปนำสืบพยาน พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี ได้ โดยระบุว่า การสืบพยายาน ตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 41 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

กรณีนี้นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ระบุว่า ต้องดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ ก่อนนำ ถ้าข้อเท็จจริงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างที่ปรากฏตามสื่อ ก็จะกระทบต่อการพิจารณาคดีอย่างมากในหลายคดี เพราะที่ผ่านมาศาลปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศมาโดยตลอด

นอกจากนี้ คำวินิจฉัยยังมีผลผูกพันองค์กรอื่นทุกองค์กรตลอดไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น และคงกระทบการดำเนินคดีของอัยการโจทก์แน่นอน ส่วนจำเลยจะได้ประโยชน์

สำหรับคดีนี้ อัยการโจทก์แถลงต่อศาลว่า มีพยานปากสำคัญ ซึ่งอยู่ต่างประเทศ ขอให้ศาลอนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบพยานปากนี้ที่ต่างประเทศ เพื่อจะสามารถพิสูจน์ให้เห็นการกระทำผิดของจำเลย ส่วนฝ่ายจำเลยคัดค้านอ้างว่า ไม่ควรส่งประเด็นไปสืบพยานต่างประเทศเนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ และขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม หากศาลยังไม่ได้รับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ ถือว่าศาลยังไม่รับรู้ และกระบวนการในการพิจารณาของศาลก็จะเป็นไปตามที่นัดไว้ในวันที่ 20 พ.ค. นี้ หรือถ้าหากศาลได้รับก่อน ก็จะพิจารณาพร้อมกันในวันนัดเดิม

ด้านนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว พ.ร.บ.ดังกล่าวถือว่าไม่มีผลบังคับใช้ ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลอาญา ว่าการดำเนินการในการสืบพยานของอัยการที่ไปสืบพยานที่ประเทศยูเออี นะนำมาพิจารณาในคดีด้วย เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ศาลอาญายังมีประมวลกฎหมายวินิจฉัยความทางอาญา ที่สามารถนำมาบังคับใช้ในการพิจารณาคดีได้
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง