"ไทยโรดส์" เปิดผลสำรวจ แว๊นซ์ไทยใส่หมวกกันน็อคไม่ถึงครึ่ง ท็อป 5 อุบัติเหตุ ทั้งกทม. ภูเก็ต นนทบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมฯ

สังคม
15 มี.ค. 56
09:45
388
Logo Thai PBS
"ไทยโรดส์" เปิดผลสำรวจ แว๊นซ์ไทยใส่หมวกกันน็อคไม่ถึงครึ่ง ท็อป 5 อุบัติเหตุ ทั้งกทม. ภูเก็ต นนทบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมฯ

เครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ชี้ ไทยสอบตกความปลอดภัยทางถนน อยู่ขั้นรุนแรง ติดอันดับ 6 ของโลกที่ไม่ปลอดภัย เผยทุกวันมีคนตายจากอุบัติเหตุเฉลี่ย 30 คน หวังกระตุ้นทุกหน่วยงานเร่งหามาตรการควบคุม และส่งเสริมการใช้หมวกนิรภัยทั่วไทย

 เมื่อวันที่ 15มีนาคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิไทยโรดส์ เครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch)  ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.)  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ  คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด(สอจร.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยปี 2555

โดยนายศิลปชัย จารุเกษมรัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 1 แสนคน หรือเฉลี่ยวันละ 30 คน โดยร้อยละ 70-80 เกิดอุบัติเหตุกับผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมหาศาล แม้ว่าจะมีการรณรงค์การขับขี่ปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มรถจักรยานยนต์ คือการไม่สวมหมวกนิรภัย ทำให้บาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ส่งผลให้พิการ และเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งที่การสวมหมวกนิรภัยเป็นกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตั้งแต่ปี  2539 และมีการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100% ตามที่รัฐบาลได้ประกาศ “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา

 
ดร.ดนัย เรืองสอน ประธานมูลนิธิไทยโรดส์ กล่าวว่า มูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ได้สำรวจสถานการณ์การสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั่วประเทศ ทั้งในเขตเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,200 แห่ง ใน 77 จังหวัด พบว่า ไทยมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 1.5 ล้านคน ภาพรวมผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 43 ในจำนวนนี้เป็นผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 52 ผู้โดยสารสวมหมวก ร้อยละ 20 เท่านั้น เมื่อจำแนกอายุ พบว่า กลุ่มผู้ใหญ่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 49 วัยรุ่นสวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 28 และเด็กสวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น โดยจังหวัดที่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ร้อยละ 80 รองลงมา คือ จ.ภูเก็ต นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ส่วนจังหวัดที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยน้อยที่สุด 5 อันดับ คือ จ.บึงกาฬ ลำพูน ชัยภูมิ นราธิวาส และนครพนม มีการสวมหมวกนิรภัยไม่ถึง   ร้อยละ 20
 
“การสำรวจในเขตเมือง ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่เทศบาลนคร หรือเทศบาลเมืองในอำเภอเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด พบว่า มีผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยสูงถึง ร้อยละ 74ในขณะที่บริเวณพื้นที่เทศบาลตำบลในพื้นที่ชุมชนชนบทที่มีประชาชนน้อยกว่า มีการสวมหมวกนิรภัยเพียง ร้อยละ 28 เท่านั้น ชี้ให้เห็นความแตกต่างของการสวมหมวกนิรภัยในเขตเมืองและ เขตชุมชนชนบท” ดร.ดนัย กล่าว
 
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ กล่าวว่า จากสถิติพบว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั่วโลก ร้อยละ 23 เกิดจากรถจักรยานยนต์ และระดับอายุของผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 15-44 ปี สำหรับประเทศไทย อยู่ที่อันดับ 6 ของโลกที่มีความปลอดภัยทางถนนน้อยที่สุด และเมื่อดูที่คะแนนด้านการสวมหมวกนิรภัยได้คะแนน 6 เต็ม 10 คะแนนเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า ประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม ได้ 9 คะแนน อินโดนีเซีย ลาว ได้ 8 คะแนน ส่วน มาเลเซีย กัมพูชา พม่า ใกล้เคียงกับประเทศไทย ได้ 5-6 คะแนน ข้อมูลดังกล่าวทำให้ทุกหน่วยงานที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนของไทยต้องหามาตรการป้องกัน และรณรงค์เพื่อปรับพฤติกรรมของคนไทยเพื่อให้หันมาสนใจความปลอดภัยมากขึ้น
 
“สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนนของไทยจัดว่าอยู่ในขั้นรุนแรง สอดคล้องกับความกังวลขององค์การอนามัยโลกที่มีต่อปัญหานี้ เนื่องจากคนในประเทศกำลังพัฒนาใช้รถจักรยานยนต์เป็นรถครอบครัว และนำมาใช้เป็นรถขนของมากที่สุด โดยมาตรฐานของพาหนะแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน จึงเป็นเหตุแต่ละปียังมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจำนวนมาก”นพ.วิทยา กล่าว
 
ด้านนพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า การเปิดเผยผลสำรวจครั้งนี้เชื่อว่า จะเป็นตัวช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจ และหันมาจริงจังกับการบังคับใช้กฎหมาย และทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและพิการ ที่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชน อาจเริ่มจากการใช้มาตรการในองค์กร เพื่อเป็นต้นแบบและแรงผลักดันให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง อาทิ สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่จักรยานยนต์เข้าออกหน่วยงาน เป็นต้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง