อดีตเลขาฯสมช.-นักวิชาการเห็นพ้องคุย"สันติภาพใต้"บทบาทผู้เจรจาต้องชัดเจน

การเมือง
15 มี.ค. 56
13:16
90
Logo Thai PBS
อดีตเลขาฯสมช.-นักวิชาการเห็นพ้องคุย"สันติภาพใต้"บทบาทผู้เจรจาต้องชัดเจน

อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. และนักวิชาการ ด้านความมั่นคง เชื่อว่าการวางตัวบุคคลที่จะเป็นตัวแทนภาครัฐ 15 คน จะมีทุกภาคส่วนเข้าร่วมเพื่อพูดคุยกับแกนนำกลุ่ม "บีอาร์เอ็น" เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกัน พร้อมย้ำว่า ความเป็นเอกภาพ คือหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์การพูดคุยครั้งนี้ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้น แต่ก็ย้ำว่าแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการพูดุคยสันติวิธีคือแนวทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

การลงนามความตกลงร่วมกันของสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กับแกนนำขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ บีอาร์เอ็นนั้น พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ทางการเมืองในภาคใต้ ร่วมผลักดันการแก้ปัญหาด้วยการเปิดพื้นที่พูดคุยแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อความสงบเรียบร้อยที่จะเกิดขึ้นโดยเร็ว โดยชี้ว่า ขณะที่หลายฝ่ายรวมถึงนานาประเทศต่างยอมรับแนวทางการพูดคุย 2 ฝ่าย แต่ในรายละเอียดยังคงมีอีกหลายขั้นตอนที่จะต้องเดินหน้าไป เพื่อแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ซึ่งต้องใช้เวลา จึงไม่สามารถระงับเหตุความรุนแรงได้โดยทันที

 
ขณะที่รองศาสตราจารย์ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง เชื่อว่า การเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28 มีนาคมนี้ ยังคงอยู่ในระดับการพูดคุย เพื่อรับฟังความเห็น ก่อนก้าวไปสู่ระดับการเจรจาและการต่อรอง เพื่อสรุปแนวทางการแก้ปัญหาที่แท้จริง
 
รองศาสตราจารย์ปณิธานระบุว่า การพูดคุย 2 ฝ่ายในนัดแรกนั้น น่าจะเป็นการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นจากฝ่ายผู้ก่อเหตุความไม่สงบ แต่ก็เสนอแนะให้ สมช.สร้างเอกภาพการทำงานด้วยการ วางบทบาทของแต่ละบุคคล ทั้ง 15 คนให้ชัดเจน ด้วยการเสนอ ครม.ลงมติเห็นชอบในอำนาจหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐ ที่ต้องเป็นผู้ปฎิบัติในพื้นที่ โดยเฉพาะ กอ.รมน. และ ศอ.บต. หรือฝ่ายพื้นที่ อาทิประชาชน,ประชาสังคม,เอกชน,นักวิชาการและผู้นำศาสนา
 
สอดคล้องกับความเห็นของนายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ อดีตเลขาธิการ สมช. ที่เชื่อว่า การพูดคุยในนัดแรกนี้ จะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นหรือยกแรก ซึ่งจะเป็นการศึกษาข้อมูลของกันและกัน โดยความเป็นเอกภาพของทีมถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อน สู่การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งในทีมหรือคณะทำงานทั้ง 15 คน ควรมีบทบาทที่ชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และควรมีหัวหน้าทีม ซึ่งได้รับความเห็นชอบในอำนาจหน้าที่จาก ครม.หรือจากนายกรัฐมนตรี เพื่อการตัดสินใจในระดับต่าง ๆ


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง